“นักวิชาการ” ชี้นำขยะติดเชื้อเผาผลิตไฟฟ้าควรเป็นมาตรการแก้ปัญหาโควิดชั่วคราว

ผู้ชมทั้งหมด 999 

หน่วยงานรัฐ”- “นักวิชาการ” เห็นด้วยกับมาตรการแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หนุนนำขยะติดเชื้อร่วมเผาผลิตไฟฟ้าชั่วคราว ขณะที่ระยะยาวแนะวางระบบบริหารจัดการให้ดี หวั่นลุกลามสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม   

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงเกือบ 2 ปีมานี้ สร้างผลเสียให้กับสุขภาพ และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ยากลำบากขึ้น แถมฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจทั่วโลก

ยิ่งไปกว่านั้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของประชาชนที่ต้องเปลี่ยนแปลงไป จนเกิด ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เพื่อปรับตัวให้สามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย ยังก่อให้เกิด “ขยะ” เพิ่มขึ้นจำนวนมากจนหลายพื้นที่ต้องเผชิญกับปัญหา “ขยะล้นเมือง”

แม้ว่า เมื่อเร็วๆนี้ ภาครัฐจะออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาขยะล้นเมือง โดยเฉพาะ “ขยะติดเชื้อ” ที่เริ่มออกมาปะปนกับ “ขยะชุมชน” โดยการผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน และโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม สามารถนำไปกำจัดด้วยการนำขยะมูลฝอยติดเชื้อไปเผาร่วมได้ ตามมาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนนั้น

ทั้งนี้ เพื่อให้แนวทางการจัดการขยะติดเชื้อดังกล่าวเป็นไปอย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการ จึงได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านเวทีเสวนา หัวข้อ “จะจัดการขยะโควิด-19 อย่างไรให้ปลอดภัย” ที่จัดขึ้นภายใต้งาน ASEAN SUSTAINABLE ENERGY WEEK 2021 AND PUMPS & VALVES ASIA 2021VIRTUAL EDITION เพื่อหวังกระตุ้นให้เกิดการจัดการขยะติดเชื้ออย่างถูกวิธี และปลอดภัย

ดร. เชาวน์ นกอยู่ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมเชี่ยวชาญ กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อให้เกิดขยะมูลฝอยติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลเบื้องต้น ณ เดือน ก.ย.2564 พบว่า มีปริมาณรวมอยู่ที่ 389.56 ตันต่อวัน ซึ่งหากเป็นขยะติดเชื้อที่เกิดขึ้นในสถานพยาบาล จะถูกนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีตามกฎหมายของกระทรวงสาธารณะสุข แต่หากเป็นขยะติดเชื้อที่เกิดจากบ้านเรือน มักจะปะปนไปกับขยะชุมชน และเกิดการกำจัดที่ไม่ถูกวิธี ขณะที่การเก็บขนขยะ ก็อาจทำให้เกิดการตกค้าง เนื่องจากยานพาหนะในการจัดขนขยะยังมีไม่เพียงพอ ตลอดจนการนำเข้าสู่เตาเผาขยะ ปัจจุบันเตาเผาขยะก็ถูกใช้งานเต็มศักยภาพของระบบแล้ว

ดังนั้น ภาครัฐจึงได้ปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อเร่งหาสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อชั่วคราว โดยเมื่อวันที่ 17 ก.ย.64  “ราชกิจจานุเบกษา” ได้เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง วิธีการกำจัดมูลฝอย”ติดเชื้อ”ด้วยวิธีอื่น พ.ศ. 2564 โดยเฉพาะขยะมูลฝอย “ติดเชื้อโควิด” ที่กำลังมีมากขึ้น ซึ่งสาระสำคัญในประกาศฉบับนี้ ได้ผ่อนปรนให้สถานประกอบการ 3 แห่ง สามารถนำขยะมูลฝอยติดเชื้อไปเข้าสู่กระบวนการเผาได้ ได้แก่ 1.โรงงานกำจัดของเสียเฉพาะที่กำจัดโดยกระบวนการเผา 2.โรงงานที่ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน หรือขยะอุตสาหกรรมหรือแบบผสมผสานทั้งแบบเผาตรงและใช้เชื้อเพลิง RDF 3.โรงงานที่ประกอบกิจการผลิตปูนซีเมนต์

ขณะเดียวกันช่วงต้นเดือน ต.ค.นี้ ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ยังได้ ประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนำมูลฝอยติดเชื้อ COVID-19 มาใช้เป็นเชื้อเพลิง พ.ศ. 2564 เพื่อกำหนดมาตรฐานและควบคุมการดำเนินการตรวจวัดค่ามลพิษต่างๆในเป็นไปตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม

“โควิด-19 เป็นวิกฤติของประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็มองว่าเป็นโอกาสสำหรับการกำจัด เพราะประเทศไทยก็มีนักวิจัยจำนวนมากที่อาจพัฒนาเครื่องมือ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ขณะที่สถาบันการศึกษา ก็มีงานวิจัยR&D ก็สามารถนำมาร่วมกันแก้ไขปัญหาได้”

ฉะนั้น การจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อ ก็เป็นโอกาสของภาคเอกชนที่จะเข้ามาช่วยภาครัฐแก้ไขปัญหานี้ อีกทั้งเมื่อไทยตั้งเป้าหมายจะเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ดึงดูดการลงทุนต่างชาติและนักท่องเที่ยว ซึ่งในอนาคตก็อาจจะก่อให้เกิดขยะเหล่านี้เพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสหากจะใช้จุดเริ่มต้นจากวิกฤตินี้พัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดขยะขึ้นมารองรับ

ดร. เชาวน์ มองว่า การผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้านำขยะมูลฝอยติดเชื้อไปเผาได้นั้น เป็นแนวทางจัดการปัญหาระยะเร่งด่วนเท่านั้น และกำลังผลิตไฟฟ้าที่ได้ก็เป็นเพียงผลพลอยได้มากกว่าความคุ้มค่าทางธุรกิจ ซึ่งในระยะยาวก็ควรเข้าสู่ระบบการกำจัดขยะที่ถูกวิธี

ผศ.ดร.สุธรรม ปทุมสวัสดิ์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ระบุว่า ขยะติดเชื้อ ถือเป็นของเสียที่เกิดขึ้นจากสถานพยาบาล จึงต้องมีวิธีกำจัดให้เหมาะสม ไม่เช่นนั้นจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม โดยการกำจัดในปัจจุบันก็แบบออกเป็น 2 วิธีหลัก คือ วิธีการบำบัดขยะติดเชื้อ และวิธีกำจัดขยะติดเชื้อ ซึ่งก็ดำเนินการกันในหลายรูปแบบ เช่น การผังกลบ การทำให้เป็นกลาง การบำบัดทางความร้อน เป็นต้น

และปัจจุบันก็มีหลากหลายเทคโนโลยีเผากำจัดขยะ แต่โดยหลักการแล้วจะต้องประกอบด้วย 2 ห้องเผา คือ ห้องเผาแรก จะกำหนดให้มีอุณหภูมิ ประมาณ 600-900 องศา และห้องเผาที่สอง เป็นการเผาซ้ำโดยจะมีอุณหภูมิตั้งแต่ 900 องศาขึ้นไป และการเผาขยะติดเชื้อ ยังต้องนำเชื้อเพลิงอื่นๆไปผสมเพื่อให้ได้ค่าความร้อนตามที่กำหนดด้วย

อย่างไรก็ตาม มองว่า การจัดการขยะติดเชื้อ ควรนำเทคโนโลยี Hydrothermal treatment process เข้ามาช่วยจัดการใช้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการใช้ไอน้ำ เข้ามาทำให้อุณหภูมิและความดันสูงขึ้น ก็จะเกิดความสามารถในการย่อยสลายได้ดีขึ้นก่อนการนำเข้าสู่กระบวนการเผาร่วมกับขยะชุมชน ซึ่งเทคโนโลยีนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และน่าจะนำเข้ามาใช้ร่วมกับการกำจัดขยะชุมชนที่ปัจจุบันนี้มีขยะติดเชื้อปะปนอยู่ได้เกิดประสิทธิภาพที่ดีขึ้น

ขณะเดียวกันมองว่า ขยะติดเชื้อเมื่อนำไปเผาเป็นไฟฟ้าจะได้ศักยภาพผลิตพลังงานน้อยมาก และต้องใช้เชื้อเพลิงอื่นร่วมด้วย ฉะนั้นขยะโควิดที่ออกไปจากตามบ้านเรือน ก็ควรนำไปกำจัดด้วยการเผาเป็นมาตรการระยะสั้น เพื่อเรียนรู้ และในระยะยาวก็ควรหามาตรการที่เหมาะสมเข้ามารองรับน่าจะดีกว่า

นางสาววิลาวรรณ น้อยภา ผู้อำนวยการฝ่ายสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ระบุว่า การนำขยะติดเชื้อไปเผา อาจดำเนินการได้ในระยะเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาขยะล้นเมือง แต่ในระยะยาว มองว่า หลัก 3R คือ Reduce – ลดการใช้ (คิดก่อนใช้) , Reuse – นำกลับมาใช้ซ้ำ (ใช้แล้วใช้อีก) และ Recycle – นำกลับมาใช้ใหม่ ยังเป็นหลักการที่เหมาะสมกับประเทศไทย และควรดำเนินการร่วมกับการคัดแยกประเภทขยะให้ชัดเจน และการบริหารจัดการที่ดี จะเกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า

ขณะที่เดียวกัน การนำขยะติดเชื้อไปเผานั้น ควรเลือกดำเนินการสำหรับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ที่มีมาตรฐานการจัดการทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นน่าจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดูแลผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีได้