กกพ.ลงนามPPAโรงไฟฟ้าSPP Hybrid Firm 159.73 MW

ผู้ชมทั้งหมด 1,147 

กกพ. เผยเอกชนสอบผ่าน โครงการ“SPP Hybrid Firm” จำนวน 10 โครงการคิดเป็นปริมาณซื้อขายไฟฟ้าตามสัญญาจำนวน 159.73 เมกะวัตต์ กว่าครึ่งของเป้าหมายรับซื้อ และย้ำมติ กบง.ทุกรายต้อง COD ก่อนสิ้นปี 2565

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ กกพ.ได้มีนโยบายเร่งรัดเพื่อสรุปผลการลงนามรับซื้อไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน พ.ศ. 2560 หรือโครงการ SPP Hybrid Firm  โดยล่าสุดในวันที่ 22 มีนาคม 2564 มีผู้ประกอบการภาคเอกชนจำนวน 10 รายสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมและสามารถทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมปริมาณเสนอขายไฟฟ้า 159.73 เมกะวัตต์  มีเอกชนที่ไม่สามารถลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้จำนวน 7 รายรวมปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวมกัน 140.27 เมกะวัตต์ 

“ในจำนวนเอกชน 7 รายที่ไม่สามารลงนาม PPA พบว่ามี 2 รายปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวมกัน 43.00 เมกะวัตต์ สามารถผ่านเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมแล้วแต่ไม่สามารถลงนาม PPA และจำนวน 5 รายปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวมกัน 97.27 เมกะวัตต์ที่ไม่สามารถผ่านเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม  นอกจากนี้ กกพ. ได้เน้นย้ำให้เอกชนทั้ง 10 รายที่สามารถลงนาม PPA ได้แล้วเร่งดำเนินการขอใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการก่อสร้างและทดสอบเครื่องจักรให้สามารถ COD ได้ทันก่อนสิ้นปี 2565 เนื่องจากมีเวลาเหลืออีกไม่มากนัก” นายคมกฤช กล่าว

ทั้งนี้ ในการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP Hybrid Firm พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา มีเอกชนได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ จำนวนทั้งสิ้น 17 ราย เสนอขายไฟฟ้าทั้งสิ้นรวม 300 เมกะวัตต์ กำหนด COD ภายในปี 2564 ตามเป้าหมาย ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนดไว้  และต่อมาคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติให้ขยาย SCOD โดยกำหนดให้ COD ก่อนสิ้นปี 2565 ซึ่ง กกพ. ก็ได้ขยายกำหนดวันลงนาม PPA จากกำหนดการเดิมภายใน 13 ธันวาคม 2562 เป็นภายใน 22 มีนาคม 2564 เพื่อให้สอดคล้องกับมติ กบง. และสถานการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าว