กบน.ขยายวงเงินอุ้มราคา LPG แตะ 20,000 ล้านบาท ดูแลถึง สิ้น ม.ค.ปี65

ผู้ชมทั้งหมด 912 

“ราคาพลังงาน” ถือเป็นต้นทุนที่สำคัญทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะไทยยังเป็นประเทศที่นำเข้าพลังงานเป็นหลัก ดังนั้นเมื่อต้นทุนราคาพลังงานจากตลาดโลกสูงขึ้น ประเทศไทยก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่เป็นต้นทุนสำคัญในการขนส่งสินค้าและการเดินทาง

รัฐบาลตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน จึงได้จัดตั้ง “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ขึ้นมาเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐ ที่จะใช้ในการดูแลเสถียรภาพราคาในยามที่ราคาพลังงานจากตลาดโลกเกิดความผันผวน ทั้งราคาน้ำมันดิบ และก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) เพื่อลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน

โดยเฉพาะสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่บอบช้ำจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กินระยะเวลาเกือบ 2 ปี และเริ่มจะฟื้นตัว แต่กลับถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาราคาพลังงานจากตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) จึงเรียกประชุมด่วนเมื่อวันที่ 4 ต.ค.2564 เพื่อติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด พร้อมกำหนดมาตรการดูแลผลกระทบต้นทุนพลังงานในประเทศ ทั้งการดูแลราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร และเตรียมขยายมาตรการตรึงราคา LPG ภาครัวเรือน ขนาดถัง 15 กิโลกรัม อยู่ที่ 318 บาท ไปอีก 1 เดือน ถึงสิ้นเดือนม.ค.2565

ขณะที่เดียวกัน ก็ได้เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.)  ต่อในช่วงบ่ายของ วันที่ 4 ต.ค.2564 ทันที เพื่อให้มีมติขยายกรอบวงเงินสำหรับดูแลราคา LPG เพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท จากกรอบเดิมที่เคยจัดสรรให้นำเงินจากบัญชีน้ำมัน มาไว้สำหรับดูแลราคาLPG อยู่ที่ 18,000  ล้านบาท หรือ มีวงเงินที่จะดูแลราคา LPG รวมทั้งหมดไม่เกิน 20,000 ล้านบาท

ขณะที่ ปัจจุบัน กรอบวงเงินดังกล่าวได้ถูกนำไปชดเชยราคา LPG แล้วกว่า 17,431 ล้านบาท ฉะนั้น หากไม่ขยายวงเงินเพิ่มเติม ก็อาจทำให้ไม่สามารถดูแลราคา LPG ได้จนถึงสิ้นเดือน ม.ค.2565 ตามที่กระทรวงพลังงาน คาดหวังไว้

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ราคา  LPG ตลาดโลก ปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา แตะระดับ 800 ดอลลาร์ฯต่อตัน ซึ่งหากภาครัฐไม่เข้าไปชดเชนราคาอาจส่งผลกระทบต่อภาคประชาชนอย่างมาก ขณะที่การขออนุมัติใช้เงิน พ.ร.บ.เงินกู้ จากสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เพื่อนำมาดูแลราคา LPG นั้นยังต้องใช้เวลาดำเนินการ ดังนั้นเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ราคาพลังงานที่ผันผวน ทาง กบน.จึงต้องขยายกรอบวงเงินดูแลราคา LPG เพิ่มเติมอีก 2,000 ล้านบาท เป็น 20,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือไว้

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นควรให้ทางสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) เตรียมความพร้อมสำหรับการกู้เงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฯ ซึ่งตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กำหนดให้กู้เงินได้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท และกองทุนน้ำมันฯ ต้องมีสถานะการเงินรวมไม่เกินระดับ 40,000 ล้านบาท สำหรับตุนเงินไว้ดูแลราคาพลังงาน ทั้งน้ำมัน และLPG

สำหรับสถานะกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด ณ วันที่ 3 ต.ค. 2564 เหลือเงินสุทธิ 10,970 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมัน 28,732 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 17,762 ล้านบาท โดยมีเงินไหลออกเดือนละประมาณ 2,237 ล้านบาท แบ่งเป็นจากการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ 758 ล้านบาท และจากการดูแลราคา LPG จำนวน 1,480 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เงินกองทุนน้ำมันฯ ที่เหลืออยู่ 10,970 ล้านบาท กระทรวงพลังงาน คาดหมายว่า จะสามารถดูแลราคาพลังงานได้จนถึงเดือนมี.ค. 2565