กพช.ไฟเขียวนำเข้า LNG ปี65 พุ่งแตะ 4.5 ล้านตัน

ผู้ชมทั้งหมด 1,358 

กพช.ไฟเขียว 5 แนวทางรับมือเปลี่ยนผ่านบริหารจัดการแหล่งเอราวัณล่าช้า ผลิตก๊าซต่ำกว่าแผน เปิดช่องปตท.-ชิปเปอร์รายใหม่ นำเข้า LNG ปี65 เพิ่มเป็น 4.5 ล้านตัน ยืดอายุโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 อีก 1 ปี รับซื้อไฟฟ้าชีวมวลเพิ่ม 400 เมกะวัตต์ เร่งเจรจาซื้อไฟเขื่อนน้ำงึม 3 เล็งใช้ดีเซล-น้ำมันเตาผลิตไฟทดแทนก๊าซฯ จ่อขยับราคาLPG เดือน ก.พ.นี้ แบบขั้นบันได

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) วันนี้ (6 ม.ค.2565) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เปิดเผยว่า ที่ประชุม กพช. ยังเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยอาจเพิ่มเติมแนวทางการบริหารจัดการอื่นใดได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม เพื่อให้สถานการณ์การผลิตก๊าซธรรมชาติของแหล่งเอราวัณ (G1/61) ช่วงเปลี่ยนผ่านมีความต่อเนื่อง ทำให้ไม่สามารถผลิตก๊าซฯได้ตามเงื่อนไขสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC) ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ปัจจุบันผลิตอยู่ที่ 400-500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือ อาจลดลงต่ำกว่า 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้

ดังนั้น เพื่อไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ กพช. มีมติให้นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว( LNG) ปี 2565 จำนวน 4.5 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มเติมจากสัญญาระยะยาวของ ปตท. ที่ปัจจุบัน มีอยู่ 5.2 ล้านตันต่อปี เบื้องต้นจะให้ ปตท.นำเข้า รวมทั้ง Shipper รายใหม่ที่สามารถนำเข้าได้ แต่จากสถานการณ์ราคา LNG ที่อยู่ในระดับสูง แม้ว่าล่าสุดจะลดลงมาอยู่ในระดับ 20 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูแล้ว ทำให้ยังไม่มีShipper รายใหม่ แจ้งความประสงค์จะนำเข้า LNG ฉะนั้น ก็อาจเป็นปตท. ที่จะเป็นผู้นำเข้า LNG เพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศเป็นผู้ดำเนินการ

นอกจากนี้ กพช.ยังเห็นชอบ 5 แนวทางดำเนินการอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อรับมือกรณีดังกล่าว ดังนี้

1.จัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมเต็มความสามารถของแหล่ง รวมถึงจัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซเพิ่มเติมจากแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีศักยภาพ ทั้งแหล่งก๊าซในอ่าวไทย และในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย(JDA)  

2) การเลื่อนแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมหมดสัญญาวันที่ 31 ธ.ค.2564 เป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2565       

3) รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่มจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และ/หรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากสัญญาเดิม กลุ่มชีวมวล เพิ่มขึ้น 400 เมกะวัตจ์ จากปัจจุบันกลุ่ม SPP ชีวมวลมีกำลังการผลิตรวม 455 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นสัญญา Firm อยู่ที่ 20 ราย กำลังการผลิตรวม 150 เมกะวัตต์ และ Non Firm อยู่ที่ 20 ราย กำลังผลิตรวม 305 เมกะวัตต์ สามารถทดแทนนำเข้า LNG ได้ 2 แสนตันต่อปี

4) เปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาทดแทนก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า ในโรงไฟฟ้าบางปะกงและโรงไฟฟ้าตะวันตก ซึ่งอยู่ระหว่างการประสานกับ ปตท. อย่างไรก็ตาม มาตรการทั้งหมดขึ้นอยู่กับ Generation Mix หรือศักยภาพของระบบส่งที่รองรับและความเพียงพอของการจัดหาเชื้อเพลิงตามฤดูกาล

5) รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังน้ำสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในโครงการน้ำงึม 3 กำลังการผลิต 400 เมกะวัตต์ เพื่อให้สามารถจ่ายไฟฟ้าให้ไทยในปริมาณที่มากขึ้นและเร็วขึ้นกว่าแผนเดิม จากเดิมกำหนด COD กลางปี 2566 ก็อาจเป็นไตรมาส 4 ปี2565 แทน

ทั้งนี้ มาตรการต่างๆ เพื่อทดแทนการนำเข้า LNG Spot โดย กพช. มอบหมายให้ กบง. พิจารณาดำเนินการและกำกับดูแลแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 ในแนวทางที่เหมาะสม สอดคล้องตามสถานการณ์ ต่อไป

นอกจากนี้ ในส่วนของมาตรการดูแลราคา LPG ที่ระดับ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ที่จะสิ้นสุดในเดือนม.ค.นี้ ภาครัฐเตรียมปรับราคาเพิ่มขึ้น โดยมองว่าในเดือนก.พ.นี้ จะเริ่มปรับขึ้นแบบขั้นบันได เพื่อลดผลกระทบของประชาชน