กพช.ไฟเขียวฟื้นโครงการโซลาร์ฟาร์มในไทย เคาะอัตราFiT ซื้อไฟขยะชุมชน 282.98 MW

ผู้ชมทั้งหมด 720 

กพช. ไฟเขียวอัตรารับซื้อไฟจากขยะชุมชนปี65 จำนวน 34 โครงการ ปริมาณรวม 282.98 เมกะวัตต์ กำหนดCOD ปี68-68 เคาะแผนเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด ตามแผน PDP2018 Rev.1 ช่วงปี 64-74 รวมทั้งสิ้น 9,996 เมกะวัตต์ พร้อมอนุมัติอัตรา FiT ซื้อไฟพลังงานหมุนเวียนช่วงปี 65-73 ในรูปแบบเปิดประมูลแข่งขันด้านราคา กำลังผลิตตามสัญญาไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ ฟื้นโครงการโซลาร์ฟาร์ม ลม ก๊าซชีวภาพ หวังลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) รวม 34 โครงการ ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวม 282.98 เมกะวัตต์ ระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ในปี 2568 – 2569 โดยในที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการการออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้าต่อไป

ที่ประชุม กพช. ยังได้รับทราบแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) โดยมีกำลังผลิตตามสัญญาจากพลังงานสะอาดรวมทั้งสิ้น 9,996 เมกะวัตต์

และเห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและข้อเสนออัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff สำหรับปี พ.ศ. 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง กำลังผลิตตามสัญญาไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Ground-mounted) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Solar+BESS) พลังงานลม และก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ซึ่งจะดำเนินการเปิดรับซื้อไฟฟ้าด้วยวิธีการใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกที่พิจารณาถึงความพร้อมด้านราคา คุณสมบัติ และเทคนิคร่วมกัน เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นว่าโครงการที่ได้รับการคัดเลือกมีความเป็นไปได้สูงในการพัฒนาให้สำเร็จ สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามแผนที่กำหนด

สำหรับการจัดหาไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นครั้งสำคัญในการจัดหาพลังงานสะอาดทุกรูปแบบอย่างจริงจัง เพื่อให้ได้ราคาค่าไฟฟ้าที่ไม่สร้างภาระต้นทุนในระยะยาวให้กับประเทศ เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่มากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐในการมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) และสร้างเสถียรภาพทางด้านราคาค่าไฟฟ้าจากการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในระยะยาวด้วยการกำหนดราคารับซื้อในระดับที่แข่งขันได้กับอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ย (Grid Parity)

ด้วยการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Ground-mounted) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Solar+BESS) พลังงานลม และก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) โดยมีระยะเวลาสนับสนุนการรับซื้อไฟฟ้าเป็นเวลา 20 – 25 ปี ในรูปแบบสัญญา Non-Firm สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Ground-mounted) พลังงานลม และก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และรูปแบบสัญญา Partial-Firm สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Solar+BESS) อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจากการส่งเสริมให้มีการดำเนินธุรกิจพลังงานหมุนเวียน

ตลอดจนสร้างแรงจูงใจให้เกิดการไหลเวียนเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศในการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย ซึ่งในที่ประชุมได้มอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการออกระเบียบ ประกาศการรับซื้อไฟฟ้าและกำกับดูแลการคัดเลือกตามขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้ ให้มีการกำหนดเงื่อนไขให้กรรมสิทธิ์ในหน่วย Renewable Energy Certificate (REC) ที่เกิดขึ้นจากการผลิตไฟฟ้าเป็นกรรมสิทธิ์ของภาครัฐด้วยการระบุไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. มีมติเห็นชอบกำหนดให้อัตราค่าไฟฟ้าที่รับซื้อจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ดำเนินการโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ กฟผ. รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ พพ. โดยดำเนินการตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) จำนวน 26 แห่ง กำลังผลิตรวม 94.447 เมกะวัตต์ โดยเป็นโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าที่รวมเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าไว้ด้วยแล้ว

อีกทั้งที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบให้กรรมสิทธิ์ Renewable Energy Certificate (REC) ที่เกิดขึ้นจากการผลิตไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ดำเนินการโดย พพ. เป็นกรรมสิทธิ์ของภาครัฐ