กพช.ไฟเขียวเพิ่มราคารับซื้อโซลาร์ภาคประชาชนเป็น 2.20 บาทต่อหน่วย

ผู้ชมทั้งหมด 854 

กพช.อนุมัติเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูปท็อปภาคประชาชนเป็น 2.20 บาทต่อหน่วยเริ่มมีผล 1 มค. 64 พร้อมอนุมัติให้ขยายผลยังกลุ่ม โรงเรียน โรงพยาบาล และการเกษตร กำลังการผลิตรวม 50 เมกะวัตต์ อัตรารับซื้อไฟฟ้า 1 บาทต่อหน่วย คาดสามารถสร้างการลงทุนได้กว่า 3,000 ล้านบาท

นายสุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบให้ปรับเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากกลุ่มบ้านผู้อยู่อาศัย ภายใต้โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ภาคประชาชนที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเป็น 2.20 บาทต่อหน่วย จากเดิมรับซื้อในราคาไม่เกิน 1.68 บาทต่อหน่วย เป้าหมายการรับซื้อ 50 เมกะวัตต์ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 64 ทั้งนี้จากการปรับเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าให้ผลตอบแทนดีขึ้น สามารถคืนทุนภายใน 8 – 9 ปี เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุนและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย

พร้อมกันนี้ที่ประชุม กพช.ยังได้มีมติเห็นชอบให้ขยายผลการดำเนินโครงการฯ ไปยังกลุ่มโรงเรียนสถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำเพื่อการเกษตร (โครงการนำร่อง) โดยกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ในอัตรา 1.00 บาทหน่วย แบ่งเป็นกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา 20 เมกะวัตต์ กลุ่มโรงพยาบาล 20 เมกะวัตต์ และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 10 เมกะวัตต์ โดยหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการได้จะต้องมีกำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 10 กิโลวัตต์ แต่น้อยกว่า 200 กิโลวัตต์ ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี

สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ภาคประชาชน กลุ่มโรงเรียนสถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำเพื่อการเกษตรนั้นจะต้องเร่งดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/64 โดยมอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กับกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการรับซื้อไฟฟ้า โดยหลังจากกำหนดหลักเกณฑ์แล้วเสร็จก็พร้อมดำเนินการประกาศรับซื้อไฟฟ้าทันที

อย่างไรก็ตามคาดว่าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชนและโครงการนำร่องในกลุ่มโรงเรียนและโรงพยาบาล จำนวน 100 เมกะวัตต์จะสามารถสร้างการลงทุนได้กว่า 3,000 ล้านบาท