กฟผ.ช่วยคนไทยฝ่าวิกฤติพลังงาน อุ้มค่าเอฟทีกว่า 3.6 หมื่นล้าน

ผู้ชมทั้งหมด 1,055 

กฟผ.ปรับแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงใหม่ ช่วยผลกระทบต้นทุนค่าไฟให้คนไทย ชี้เลื่อนปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 ประหยัดได้ 14,800 ล้านบาท ขณะที่โรงไฟฟ้าบางปะกงและโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก เปลี่ยนมาใช้น้ำมันเตา-ดีเซล ลดต้นทุนได้ 2,600 ล้านบาท พร้อมแบกต้นทุนค่าก๊าซ ก.ย.-ธ.ค.64 ราว 36,000 ล้านบาท

สถานการณ์วิกฤตพลังงานโลกที่ปรับราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลกที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปลายปี 2564 จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินที่อ่อนค่าลง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนค่าเชื้อในการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศไทยสูงขึ้น

การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 จึงอนุมัติปรับแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงใหม่ โดยเลื่อนแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 ที่มีกำหนดปลดออกจากระบบผลิตไฟฟ้าในวันที่ 1 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา เนื่องจากหมดอายุการใช้งาน ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 รวมระยะเวลาประมาณ 1 ปี เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงก๊าซฯ

ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะโฆษก กฟผ. ระบุว่า  การเลื่อนปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8 ซึ่งใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง กำลังผลิตประมาณ 2,160 ล้านหน่วย เทียบเท่ากับการใช้ LNG ประมาณ 15,330 ล้านลูกบาศก์ฟุต จะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลงได้ถึงประมาณ 12,200 ล้านบาท

อีกทั้ง กฟผ. ยังได้ปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าบางปะกงและโรงไฟฟ้าเอกชนในภาคตะวันตกให้มาใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล แทนการใช้ก๊าซฯ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2564 เพื่อลดการนำเข้า LNG คิดเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ประมาณ 1,235 ล้านหน่วย เทียบเท่ากับการใช้ LNG 7,839 ล้านลูกบาศก์ฟุต ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลงได้ถึง 2,600 ล้านบาท

กฟผ. ยังได้แบกรับต้นทุนเชื้อเพลิงค่าก๊าซฯ แทนผู้ใช้ไฟฟ้าในงวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2564 ไปก่อนเป็นการชั่วคราวอีกประมาณ 36,000 ล้านบาท พร้อมจัดตั้ง War Room ติดตามข้อมูลราคาเชื้อเพลิงแต่ละประเภท และพิจารณาเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจาก LNG ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้วิกฤตพลังงานในครั้งนี้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี”

นอกจากนี้ กฟผ. ยังเตรียมพร้อมแผนรองรับอื่น ๆ เพื่อลดผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า เช่น การปรับแผนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำต่างประเทศให้สอดคล้องรองรับกับสถานการณ์ และแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ประเภทพลังงานหมุนเวียน เพิ่มเติมจากสัญญาเดิมด้วย