กฟผ.ซุ่มดีลพพ.ดึงเงินกองทุนฯหนุนไบค์แมนใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้าหวังนำร่องก่อน5พันคัน

ผู้ชมทั้งหมด 971 

กฟผ.ซุ่มดีลกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานดึงเงินกองทุนอนุรักษ์ฯ ส่งเสริมการใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้า เบื้องต้นในระยะแรกเล็งสนับสนุนกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง กลุ่มผู้ส่งของ ส่งอาหาร และส่งพัสดุกว่า 5,000 คัน พร้อมซุ่มดีลบางจากขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าในปั๊ม

นางสาวจิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.อยู่ระหว่างการเจรจากับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางการส่งเสริมการใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยใช้เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในบางส่วน และใช้งบของกฟผ.มาสนับสนุนกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันเปลี่ยนมาใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า คาดว่าจะเริ่มนำร่องได้ในระยะแรกประมาณ 5,000 คัน

โดยกฟผ.กับพพ.ต้องไปศึกษาในรายละเอียดการส่งเสริมก่อนว่าจะเริ่มส่งเสริมจากกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในกลุ่มใด เช่น กลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้าง กลุ่มผู้ใช้จักรยานยนต์ในการส่งอาหาร และกลุ่มผู้ใช้จักรยานยนต์ส่งพัสดุ ไม่ว่าจะเป็น Grab Food, Food Panda, LINE MAN เป็นต้น รวมถึงศึกษารูปแบบวิธีการส่งเสริมด้วย คาดว่าจะได้ข้อสรุปรูปแบบการส่งเสริมได้ในเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นกฟผ.ได้นำเสนอแผนการส่งเสริมจักรยานยนต์ไฟฟ้า ของ กฟผ. ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ และแนวทางการส่งเสริมในอนาคตให้กับพพ.พิจารณา ทั้งนี้ในปัจจุบัน กฟผ. ได้ผลิตจักรยานยนต์ไฟฟ้าต้นแบบจำนวน 51 คัน ขนาดมอเตอร์ 3 kW โดย 1 คัน ประกอบด้วยแบตเตอรี่ 2 ลูก สามารถวิ่งได้ 100 กิโล ความเร็วสูงสุด 80 กิโล/ชั่วโมง หรืออัตราการใช้พลังงานที่ 33.4 Wh/km

นางสาวจิราพร กล่าวถึงความร่วมมือกับภาคเอกชในการขยายการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ว่า กฟผ.อยู่ระหว่างเจรจากับบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ในการร่วมลงทุนขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าในสถานีบริการน้ำมันของบางจากคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตามล่าสุดกฟผ.ได้มีความร่วมมือกับบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ในการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้ายานยนต์ในสถานีบริการน้ำมัน PT เบื้องต้นจะนำร่องก่อน 5 แห่ง โดยใช้เทคโนโลยีของ กฟผ. คาดว่าจะเปิดตัวในเดือนมี.ค.นี้

อนึ่งกฟผ.ตั้งเป้าหมายการเติบโตในธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจ Electric Vehicle (EV) โดยจัดทำสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ซึ่งปี 2564 มีเป้าหมายจะก่อสร้างให้ครบ 31 แห่ง เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเติบโตของรถ EV รวมถึงมีแผนจะจัดทำเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบเร็ว (EGAT DC Quick Charger) ขนาด 100 กิโลวัตต์ และเตรียมขยายผลเชิงพาณิชย์ธุรกิจแบตเตอรี่อัจฉริยะ (Batt 20C) ต่อไป