กฟผ.เปิดตัวจักรยานยนต์ไฟฟ้า ‘EGAT E-Bike’

ผู้ชมทั้งหมด 1,171 

กฟผ. เปิดตัวรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า EGAT E-Bike และสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ นำร่องใช้งานในพื้นที่ กฟผ. 19 แห่งทั่วประเทศ เดินหน้าสู่การเป็นองค์กรสีเขียว ส่งเสริมระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดตัวรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ กฟผ. (EGAT E-Bike) ว่า กฟผ. เล็งเห็นถึงความสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มลพิษ และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จึงส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าใน กฟผ. มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการนำรถมินิบัสไฟฟ้า (EV Bus) จำนวน 11 คัน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ กฟผ. 10 แห่ง มาใช้สำหรับรับส่งพนักงานและประชาชนที่มาศึกษาดูงานในพื้นที่ กฟผ. เปิดให้ประชาชนเข้าใช้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าของ กฟผ. ทั้ง 23 สถานี การติดฉลากรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 5 ซึ่งดำเนินการไปแล้วกว่า 12,000 ดวง และล่าสุด กฟผ. ได้จัดทำรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ กฟผ. หรือ EGAT E-Bike ผลักดันยกระดับประสิทธิภาพพลังงานภายใต้แคมเปญ “บิดเปลี่ยนโลก” โดยนำร่อง EGAT E-Bike จำนวน 51 คัน เพื่อใช้งานในกิจการเพื่อสังคมและกิจการของ กฟผ. ในพื้นที่ กฟผ. จำนวน 19 แห่ง ทั่วประเทศ

สำหรับ EGAT E-Bike เป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ถูกออกแบบให้ขับขี่ได้ง่าย มีความปลอดภัยสูง เพราะความเร็วสูงสุดของ EGAT E-Bike เป็นความเร็วที่เหมาะกับการวิ่งในเมืองไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คิดเป็นระยะทางมากกว่า 95 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ส่วนการชาร์จไฟฟ้า EGAT E-Bike นอกจากสามารถชาร์จไฟที่บ้านได้แล้ว ยังรองรับการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ซึ่งผู้ใช้สามารถถอดแบตเตอรี่สับเปลี่ยนได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาในการรอชาร์จไฟ อีกทั้งการใช้ไฟฟ้าแทนน้ำมันคิดเป็นต้นทุนค่าเชื้อเพลิงเพียง 13 สตางค์ต่อกิโลเมตร

ทั้งนี้ คาดว่าการส่งเสริมการใช้ EGAT E-Bike ภายในองค์กรของ กฟผ. จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 37 ตันต่อปี และลดฝุ่นประมาณ 838,000 มิลลิกรัมต่อปี โดยตั้งเป้าขยายผลสู่หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่อำเภอบางกรวยภายใต้โครงการ Bangkruai Green Community ภายในปี 2564 รองรับกลยุทธ์ Air theme ในการดูแลคุณภาพอากาศ รวมถึงการพัฒนา EGAT E-Bike ในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ร่วมมือกับสถานศึกษาและผู้ประกอบการพัฒนาหลักสูตรและฝึกอบรมการซ่อมบำรุงรักษารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ต่าง ๆ สร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศและเดินหน้าสู่พลังงานสีเขียวอย่างยั่งยืน

พร้อมกันนี้ กฟผ.ยังได้จัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping Station) จำนวน 3 แห่ง ที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง จ.นนทบุรี, โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง และศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง จ.นครราชสีมา ซึ่งมีระบบ RFID Access ควบคุมบริหารจัดการอำนวยความสะดวกในการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ให้กับผู้ใช้งาน