กฟผ.เร่งลงทุนตามแผนพีดีพี 1.87แสนล้านกระตุ้นเศรษฐกิจ

ผู้ชมทั้งหมด 796 

กฟผ.เดินหน้าเร่งลงทุนโรงไฟฟ้า ตามแผนพีดีพี รวมมูลค่า 1.87 แสนล้าน ขณะที่ความร่วมมือกับปตท.ลงทุนคลัง LNG ภาคใต้กว่า 4 หมื่นล้านบาท คาดเสนอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาภายในเดือน ก.ค.นี้  

นายบุญญนิตย์  วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.เร่งเดินหน้าลงทุนตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) ปี 2561-2580 เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด – 19 โดยเฉพาะการเร่งลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ รวมเม็ดเงินลงทุนราว 187,000 ล้านบาท

สำหรับการลงทุนโรงไฟฟ้า IPP จำนวน 3 โครงการกรอบวงเงินลงทุนรวม 97,000 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน ชุดที่ 8-9 กำลังการผลิตรวม 600 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าจะสามารถเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในปลายปีนี้ โดยโครงการนี้มีกำหนด COD ในปี 2569

โครงการโรงไฟฟ้าพุนพินที่จ.สุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1-2 กำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ ขณะนี้กฟผ.อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) อย่างไรก็ตามคาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ในเดือนมีนาคม 2565 มีกำหนด COD มกราคม 2570 และมกราคม 2572

โครงโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน กำลังการผลิต 650 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเร่งการพิจารณารายงานศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (Feasibility Study) จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และการจัดทำ EIA เพื่อเสนอ กก.วล. โดยคาดว่าจะเสนอให้ ครม. พิจารณาอนุมัติโครงการภายในเดือนธันวาคม 2564

พร้อมกันนี้ยังได้เร่งลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ จำนวน 16 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ กรอบวงเงินลงทุนราว 90,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างติดตั้งระบบเสร็จแล้ว 1 โครงการ คือโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร (Hydro-floating Solar Hybrid) ขนาด 45 เมกะวัตต์ ซึ่งเตรียม COD ในเดือนกันยายน 2564 และอยู่ระหว่างการเตรียมออกประกาศ รายละเอียดเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) คาดว่าจะเริ่มประกาศ TOR ได้ในช่วงปลายปีนี้ เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2565  และมีกำหนด COD ในปี 2566

อย่างไรก็ตามสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำนั้นในขณะนี้กฟผ.อยู่ระหว่างเตรียมเสนอกระทรวงพลังงานให้พิจารณาเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 5,000 เมกะวัตต์บรรจุในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2022) เนื่องการมองว่าการลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. นั้นสามารถดำเนินการลงทุนได้ในทุกเขื่อน และมีศักยภาพมากกว่า 5,000 เมกะวัตต์

ส่วนความร่วมมือกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ลงทุนในโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ขนาด 3 ล้านตันต่อปี ที่จ.สุราษฎร์ธานี นั้นในส่วนของคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซฯ จะเป็นการร่วมลงทุนฝ่ายละ 50% มูลค่าการลงทุนรวม 35,000 ล้านบาท ส่วนท่อส่งก๊าซฯ มูลค่าการลงทุนราว 7,000 ล้านบาทปตท.จะเป็นผู้ดำเนินการลงทุนฝ่ายเดียว

ทั้งนี้โครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว และท่อส่งก๊าซฯ คาดว่าจะเสนอให้กระทรวงพิจารณาได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 และมีกำหนดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2569 เพื่อป้อนก๊าซฯ ให้กับโรงไฟฟ้าพุนพิน และโรงไฟฟ้าขนอมตามแผนพีดีพี 2018 ฉบับปรับปรุงใหม่