กรมทางหลวง ชี้แจงกรณีแผ่นคานซีเมนต์หล่นใส่บริเวณตู้ยามตำรวจทางหลวง

ผู้ชมทั้งหมด 538 

กรมทางหลวง ชี้แจงกรณีแผ่นคานซีเมนต์หล่นใส่บริเวณตู้ยามตำรวจทางหลวงพื้นที่โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ M81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี สั่งหยุดโครงการก่อสร้าง พร้อมเยียวยาผู้เสียหาย กำชับเสริมมาตรการความปลอดภัยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ

ตามที่ได้มีสื่อสังคมออนไลน์นำเสนอข่าวในวันนี้ (11 กุมภาพันธ์ 2566) กรณีเกิดอุบัติเหตุแผ่นซีเมนต์ขนาดใหญ่ น้ำหนักกว่า 40 ตัน หล่นใส่บริเวณตู้ยามของตำรวจทางหลวงบางใหญ่ ถนนกาญจนาภิเษก ต.เสาธงหิน อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี เป็นเหตุให้ตู้ยามบริการของตำรวจทางหลวงได้รับความเสียหายและคนงาน 1 รายได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เมื่อค่ำของวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมานั้น

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ได้สั่งการด่วนให้สำนักก่อสร้างทางที่ 1  สำนักงานทางหลวงที่ 13 (กรุงเทพ) และแขวงทางหลวงนนทบุรี พร้อมด้วยทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญได้ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบทันที ขอเรียนชี้แจงว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 (M81) สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี  ตอนที่ 2  ระหว่าง กม.40 ถนนกาญจนาภิเษก ต.เสาธงหิน อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ปิดภายในโครงการ รถทั่วไปไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ และจากการตรวจสอบพบว่าแผ่นคานซีเมนต์ดังกล่าวเป็นคานรองรับน้ำหนักของงานโครงการก่อสร้างฯ

โดยระหว่างเกิดเหตุเป็นการก่อสร้างพื้นสะพานระบบคานสมดุลย์ (Balanced Cantilever) เสาต้นที่ ML – 15  ที่ได้ติดตั้งไปแล้วทั้งสิ้น 6 คู่ (ด้านต้นทาง – ปลายทาง) คู่ที่เกิดเหตุเป็นพื้นคู่ที่ 7 จากหัวเสา ขณะยกพื้นสะพานคานยกชิ้นส่วนสะพานเกิดเสียรูปจากการใช้งานเนื่องจากรับน้ำหนักที่มากและต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้ว จึงทำให้ชิ้นส่วนสะพานดังกล่าวเกิดหลุดจากโครงสร้างแขวนหลัก เป็นเหตุให้หลังคาและตัวอาคารสถานีบริการทางหลวง (บางใหญ่) เสียหายบางส่วนและคนงานได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 1 ราย  ตามที่รายงานข่าวนั้น

โดยภายหลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงพร้อมผู้รับจ้างได้ประสานเจ้าหน้าที่กู้ภัยพร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสายตรวจรุดตรวจสอบ และได้เร่งเก็บกู้แผ่นซีเมนต์ดังกล่าวออกจากพื้นที่พร้อมนำผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ซึ่งได้รับบาดเจ็บบริเวณเอวและหลัง ทางโครงการฯ ได้หารือกับผู้รับจ้างโดยในเบื้องต้นผู้รับจ้างพร้อมเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สำหรับตัวอาคารที่เสียหายได้สั่งการให้ผู้รับจ้างตรวจสอบความเสียหายพร้อมซ่อมแซมให้ตัวอาคารกลับมาใช้งานได้ต่อไป

กรมทางหลวงขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ซึ่งกรมทางหลวงให้ความสำคัญกับมาตรการความปลอดภัยในระหว่างการก่อสร้างอย่างสูงสุดมาโดยตลอด ภายหลังจากเกิดเหตุมิได้นิ่งนอนใจ สำนักก่อสร้างทางที่ 1 และหน่วยงานในพื้นที่ร่วมดำเนินการตรวจสอบ พร้อมสั่งการให้โครงการฯ หยุดดำเนินการโครงสร้างพื้นสะพานตั้งแต่วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป จนกว่าจะได้รับการตรวจสอบความปลอดภัยของเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง ๆ ซักซ้อมขั้นตอนการปฏิบัติงาน การป้องกันอุบัติเหตุต่าง ๆ พร้อมใบรับรองจากวิศวกรทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันโครงสร้างที่ยกลอยจากพื้นทั้งหมดที่ยังไม่ได้ติดตั้งได้ปลดลงพื้นไว้แล้ว และกำชับให้เพิ่มมาตรการความปลอดภัยเต็มที่ในทุกโครงการก่อสร้าง ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ รวมทั้งเข้มงวดกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทั้งในส่วนกรมทางหลวง และผู้รับจ้าง เพื่อความปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน