กลุ่มปตท.จัดทัพนำเข้าLNGชดเชยเข้าพื้นที่เอราวัณไม่ทัน

ผู้ชมทั้งหมด 2,631 

บริษัทปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ที่เป็นผู้ชนะการประมูลและได้สิทธิ์เป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) แปลงสำรวจหมายเลข G1/61 (แหล่งเอราวัณ) เมื่อปี 2561 และมีการลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 และมีเป้าหมายที่จะต้องเข้าพื้นที่ติดตั้งแท่นผลิตในไตรมาส 1/2564 แต่ในปัจจุบันยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ติดตั้งแท่นผลิตได้ถึงแม้ ปตท.สผ.อีดี ได้เตรียมความพร้อม 8 แท่นผลิตไว้ก็ตาม เพื่อให้สามารถติดตั้งได้ทันทีหากผู้รับสัมปทานรายเดิมอนุญาตให้เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ

ทั้งนี้นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTEP ระบุว่า กรณีที่ไม่สามารถผลิตก๊าซฯ ได้ตามสัญญาไม่ใช้ความผิดของ ปตท.สผ. อีดี เนื่องจากผู้ผลิตรายเดิมบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท เชฟรอน คอร์ปอเรชั่น ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน ของสหรัฐอเมริกา ไม่ส่งมอบพื้นที่ให้ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ตามแผน ดังนั้นจึงเชื่อว่าไม่ต้องเสียค่าปรับ โดยจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

ก๊าซหาย300ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

โดยการลงทุนในโครงการเอราวัณ ระหว่างปี 2564-2568 นั้น PTTEP ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ ปตท.สผ.อีดี ได้เตรียมงบลงทุนไว้ 400 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือรวม 5 ปีคิดเป็นเงินลงทุนราว 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อใช้สำหรับการติดตั้งแท่น เจาะหลุมผลิตเพิ่ม วางท่อ และการเชื่อมต่อระบบ ทั้งนี้ตามสัญญา PSG นั้นกำหนดให้ผูกพันปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำสำหรับ 10 ปีแรกของระยะเวลาการผลิต ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สำหรับแหล่งเอราวัณ ซึ่งการเข้าพื้นที่ล่าช้านั้นในเบื้องต้นประเมินว่าก๊าซธรรมชาติจะหายไปประมาณ 200-300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตก๊าซฯ ขั้นต่ำที่กำหนดไว้อยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญา PSC

เล็งนำเข้าLNG-ผลิตแหล่งอื่นชดเชย

อย่างไรก็ตามเพื่อชดเชยกับปริมาณก๊าซฯ ที่หายไป PTTEP เตรียมเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯจากอ่าวไทย คือ แหล่งบงกช และแหล่งอาทิตย์ ขึ้นมาทดแทนปริมาณ 80% ของกำลังการผลิตก๊าซฯขั้นต่ำที่กำหนดไว้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และส่วนทีเหลืออีก 20% อาจเป็นการจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เข้ามาทดแทน ซึ่งคาดว่า ผลกระทบที่จะส่งผ่านต่อผู้ใช้ไฟฟ้าคงไม่มากนักเพราะเป็นการเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตก๊าซฯจากอ่าวไทยมาทดแทน

มั่นใจไฟฟ้าไม่ขาดแคลน

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า กรณีที่ ปตท.สผ. อีดี เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณไม่ได้ เบื้องต้น กกพ.ก็ได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนรองรับทั้งด้านการผลิตไฟฟ้า และการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นคลังเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และท่อก๊าซฯ เพื่อรองรับการนำเข้า LNG มาชดเชยปริมาณก๊าซของแหล่งเอราวัณที่คาดว่าจะหายไปราว 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้การนำเข้าก๊าซ LNG มาชดเชยปริมาณการผลิตของแหล่งเอราวัณนั้นจะต้องเป็นหน้าที่ของกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ที่จะต้องจัดหาก๊าซตามโครงสร้างการจัดหาเพื่อความมั่นคง อย่างไรก็ตามก็ต้องความชัดเจนการเปิดเสรีก๊าซระยะที่ 2 ด้วยว่าจะมีการปรับโครงสร้างใหม่อย่างไร โดยล่าสุดได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และเตีรยมเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาในวันที่ 1 เมษายนนี้

อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการแหล่งก๊าซในอ่าวไทยเพื่อรองรับกรณีที่เข้าแหล่งเอราวัณไม่ทันนั้นสามารถเพิ่มสัดส่วนการผลิตจากแหล่งอื่นในอ่าวไทยมาชดเชยได้ เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้า ดังนั้นตนขอยืนยันว่าจะมีเชื้อเพลิงมาผลิตไฟฟ้าไม่ขาดแคลนแน่นอน ส่วนการนำเข้า LNG มาชดเชยนั้นก็อาจจะเกิดผลกระทบด้านราคาค่าไฟฟ้าจะปรับขึ้นหรือลงก็ขึ้นอยู่กับราคาก๊าซ LNG ที่จะต้องนำเข้าในช่วงนั้นเป็นเช่นไร

เอกชนลุ้นเสรีก๊าซระยะ2เปิดทางนำเข้าLNGป้อนปตท.สผ.

แหล่งข่าวจากวงการพลังงาน กล่าวว่า นำเข้า LNG เพื่อชดเชยปริมาณก๊าซฯ ที่หายไปราว 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันนั้นจะต้องชดเชยโดยการนำเข้า LNG ประมาณ 2 ปี หรือคิดเป็นปริมาณก๊าซ LNG ประมาณ 2 ล้านตันต่อปี ซึ่งก็จะเกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการที่ได้ใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ LNG (LNG Shipper) ซึ่งปัจจุบันมีผู้ที่ได้รับอนุญาตแล้ว 5 ราย ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของกระทรวงดพลังงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องเปิดเสรีก๊าซระยะที่ 2 ด้วยว่าจะมีการปรับโครงสร้างอย่างไร

ทั้งนี้โครงการเอราวัณของผู้รับสัมปทานรายเดิมบริษัท เชฟรอนฯ นั้นจะหมดสัญญาภายในเดือนเมษายน 2565 เบื้องต้นจากการประเมินพบว่าปัจจุบันแหล่งเอราวัณ ผลิตก๊าซอยู่ที่ 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ภายหลังหมดสัญญากำลังการผลิตจะลดลงเหลือ 500-600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่สัญญาใหม่นั้น ปตท.สผ. อีดี ได้ร่วมทุนกับบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด ในสัดส่วนการลงทุน 60% และ 40% ตามลำดับ

สำหรับสัญญาแปลงเอราวัณ ที่ปตท.สผ. อีดี ผู้ชนะการประมูลเสนอราคาค่าคงที่สำหรับราคาก๊าซธรรมชาติที่ 116 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาก๊าซในสัญญาปัจจุบันอยู่ที่ 165 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งหากยังต้องนำเข้าก๊าซฯ จากต่างประเทศเข้ามาชดเชยก็ยิ่งจะส่งผลให้ PTTEP ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ปตท.สผ. อีดี ต้องแบกรับภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นด้วย