“การบินไทย” จับมือสถาบันการบินพลเรือน สร้างช่างอากาศยานมาตรฐานสากล

ผู้ชมทั้งหมด 605 

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และสถาบันการบินพลเรือน ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยเรื่อง “การฝึกอบรม ภาคปฏิบัติของหลักสูตรนายช่างพื้นดิน ณ สถานประกอบการจริง” โดยมี นายสุวรรธนะ สีบุญเรืองรักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทยฯ และ นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน ร่วมลงนาม ณ อาคารศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านการบิน สถาบันการบินพลเรือน กรุงเทพฯ

นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทย มีความพร้อมและยินดีเป็นอย่างยิ่งสำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ เนื่องจากเล็งเห็นว่าการพัฒนาศักยภาพช่างอากาศยาน เป็นองค์ประกอบสำคัญที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจสายการบินที่มีแนวโน้มกลับมาเติบโตอีกครั้ง

โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาบุคลากรสาขาช่างอากาศยานให้ได้รับการฝึกอบรมทักษะการทำงานอย่างมืออาชีพ ในสถานที่ซ่อมบำรุงอากาศยานจริง นักศึกษาจะได้รับประสบการณ์จากการฝึกงานที่สายช่าง การบินไทย ดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ตามมาตรฐานหลักสูตร Basic Training B1.1 ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT Part 147) ประกอบไปด้วยการฝึกอบรมภาคปฏิบัติ (Practical Training) และการฝึกอบรมในสภาพแวดล้อมการทำงานจริง (Maintenance Experience) โดยมี Practical Assessors ของสายช่าง ดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ มาตรฐานดังกล่าวเทียบเท่ามาตรฐานขององค์การความปลอดภัยด้านการบินของสหภาพยุโรป (EASA)

โครงการความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อยกระดับการฝึกอบรมช่างอากาศยานของประเทศไทย รวมทั้ง สายช่าง การบินไทย ให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมภาคปฏิบัติ ภายใต้การรับรองของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT Approved Maintenance Training Organization) ซึ่งในอนาคต ช่างอากาศยานต้องจบการศึกษาจากสถาบันที่ CAAT รับรองเท่านั้น อีกทั้ง การบินไทยมีโอกาสที่จะคัดเลือกช่างอากาศยานที่มีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อปฏิบัติงานในสายช่าง (Maintenance, Repair and Overhaul /MRO) ของบริษัทฯ ในอนาคตอีกด้วย

อนึ่ง สายช่าง การบินไทย ได้รับการรับรองตามมาตรฐานระดับโลก อาทิ องค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA), องค์การบริหารการบินแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (FAA) และสำนักงานความปลอดภัยการบินพลเรือน (CASA) ของออสเตรเลีย จึงมีศักยภาพและความพร้อมในการสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรสาขาช่างอากาศยาน เพื่อรองรับการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของธุรกิจการบิน