คมนาคม กางแผนลงทุนปี 66 อัดงบ 3.11 แสนล้าน เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ผู้ชมทั้งหมด 1,470 

กระทรวงคมนาคมมีหน่วยงานในสังกัดที่มีแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางถนน ทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ เรียกได้ว่าเป็นการลงทุนครบ 4 มิติระบบการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคม ขนส่งของภูมิภาค  (ฮับ) ในอนาคต

สำหรับแผนการลงทุนใน 2566 ของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนั้นเป็นแผนลงทุนโครงการต่อเนื่อง และโครงการใหม่วงเงินลงทุนรวม 311,483.56 ล้านบาท โดย โดยใช้แหล่งเงินประกอบด้วย งบรายจ่ายลงทุนที่ได้จากงบประมาณแผ่นดิน 201,510.96 ล้านบาท คิดเป็น 64.96% รองลงมาคือ วงเงินกู้ 44,087.01 ล้านบาท คิดเป็น 14.15% เงินลงทุนจากการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานต่างๆ วงเงิน 42,433.25 ล้านบาท คิดเป็น 13.62% เงินจากกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFF) 8,598.26 ล้านบาท คิดเป็น 2.76% และเงินจากโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ราว 5,701.71 ล้านบาท คิดเป็น 1.83% เป็นต้น

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนา และจะจัดใช้งบประมาณในปี 2566 ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อาทิ ทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6), มอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81), มอเตอร์เวย์สายบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว (M82), ทางพิเศษ สายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอก, ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น (M-FLOW)

นอกจากนี้แผนการลงทุนโครงการต่อเนื่องนั้นยังรวมไปถึงโครงการพัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้า เชียงของ จังหวัดเชียงราย, โครงการศูนย์การขนส่งชายแดน จังหวัดนครพนม, โครงการรถไฟฟ้า 4 สายทาง (สายสีชมพู สีเหลือง สีส้ม สีม่วง), โครงการทางคู่ ระยะที่ 1 รวม 5 สายทาง และรถไฟสายใหม่ 2 สายทาง, โครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย – จีน, โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และการจัดตั้งสายเดินเรือแห่งชาติ

ส่วนโครงการใหม่ที่จะเร่งรัดลงทุนในปี 2566 ประกอบด้วย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ส่วนต่อขยายยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลเวย์) (M5), มอเตอร์เวย์สาย M9 วงแหวนตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน – บางบัวทอง, มอเตอร์เวย์สายนครปฐม – ชะอำ, มอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา (M7), ทางพิเศษ เมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้-ป่าตอง, สะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา – อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง

รวมถึงโครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-Map), สะพานเชื่อมเกาะลันตา จังหวัดกระบี่, โครงการ Landbridge ชุมพร – ระนอง, โครงการเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 เป็นต้น โดยปัจจุบันหลายโครงการใหม่มีสถานะอยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2566 ได้ให้หน่วยงานจัดทำแผนการลงนามในสัญญา โดยงบรายการปีเดียว จำนวน 80,360.11 ล้านบาทต้องลงนามในสัญญาแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค. 2565 ขณะที่งบผูกพันใหม่ จำนวน 12,981.22 ล้านบาทให้ลงนามในสัญญาแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2/2566 พร้อมทั้งจัดทำแผนการเบิกจ่ายในแต่ละเดือน เพื่อสามารถเบิกจ่ายเงินให้ได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล

โดยส่วนราชการ 8 หน่วยได้รับงบลงทุนรวม 168,746.94 ล้านบาท กรมทางหลวง (ทล.) ได้รับมากที่สุด จำนวน 113,464.41 ล้านบาท รองลงมาคือกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้รับจำนวน 45,583.25 ล้านบาท และกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้รับจำนวน 4,761.01 ล้านบาท ขณะที่ 5 รัฐวิสาหกิจ ได้รับงบลงทุนรวม 32,764.02 ล้านบาท โดย รฟม.ได้รับมากที่สุด จำนวน 17,042.87 ล้านบาท รองลงมาคือ รฟท. จำนวน 15,535.84 ล้านบาท