จับตา! ทิศทางธุรกิจผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ทางเลือกใหม่อุตสาหกรรมการบิน..?

ผู้ชมทั้งหมด 1,241 

ปัจจุบันสายการบินในกลุ่มประเทศยุโรปเริ่มใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของอุตสาหกรรมการบินที่วางแผนลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปสู่เป้าหมาย Net Zero ส่วนในประเทศไทยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็ได้เริ่มระดมความคิดเห็นกับภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นสายการบิน กลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน ผู้ผลิตเทคโนโลยีการผลิตน้ำมัน รวมถึงผู้ให้บริการน้ำมันอากาศยาน เพื่อกำหนดเป็นนโยบายระดับชาติ เตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT กล่าวว่า ปัจจุบัน กพท. อยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ผลิตน้ำมันอย่าง กลุ่มบางจาก กลุมปตท. กลุ่มที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีในการผลิตพัฒนาน้ำมัน SAF เช่น กลุ่มฮันนี่เวลล์ รวมถึงผู้ประกอบการสายการบิน เพื่อกำหนดแนวนโยบายการส่งเสริมการผลิตและการใช้น้ำมัน SAF เพื่อให้อุตสาหกรรมการบินของไทยมีความพร้อมรองรับในการเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ความพร้อมของสายการบินจะต้องมีโครงการทดลองเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการบิน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นสายการบินของไทยมีการทดลองใช้น้ำมัน SAF ในปี 2566 อย่างไรก็ตามในช่วงแรกต้นทุนราคาน้ำมัน SAF คาดว่าจะมีราคาที่สูงกว่าน้ำมันจากเชื้อเพลิงฟอสซิล 4 เท่า ดังนั้นก็ต้องไปดูว่าการผลิตจากวัตถุดิบแบบไหนที่มีต้นทุนต่ำ และต้องไปดูว่าจะมีการส่งเสริมอย่างไรให้เกิดการใช้ให้มากขึ้น เมื่อมีการใช้มากขึ้นราคาก็จะลดลง

กลุ่มโรงกลั่นเตรียมพร้อมลงทุน

ขณะที่ กลุ่มปตท. โดยนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุว่า  กลุ่มปตท.อยู่ระหว่างร่วมมือกันในการศึกษา พัฒนาและลงทุนผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน หรือ SAF ซึ่งคาดว่าผลการศึกษาเสร็จภายในปี 2566 แต่จะลงทุนอย่างไรก็ต้องดูความต้องการของตลาดด้วยถึงตัดสินใจการลงทุน สำหรับความร่วมมือภายในกลุ่มปตท. นั้นประกอบด้วย ปตท. บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอลจำกัด (มหาชน) (GC), บริษัท ไออาร์พีซีจำกัด (มหาชน) (IRPC), บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR)       

ทั้งนี้ความร่วมมือกันในครั้งนี้จะเป็นการผนวกรวมองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ของกลุ่ม ปตท. ในการประกอบธุรกิจโรงกลั่นพร้อมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และการพัฒนากระบวนการกลั่นผลิตภัณฑ์น้ำมันที่มีประสิทธิภาพสูงจาก ไทยออยล์ GC และ IRPC ตลอดจนความเชี่ยวชาญ และ ประสบการณ์ในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันอากาศยานทั้งในประเทศและต่างประเทศของ OR  มาต่อยอดการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน ซึ่งเป็นพลังงานแห่งอนาคตที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ มาตรฐานระดับโลก ได้แก่ เทคโนโลยีการผลิต Hydroprocessed Esters and Fatty Acids (HEFA) และ Alcohol to Jet (ATJ) มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก

ด้าน กลุ่มบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็ได้ร่วมกับพันธมิตรอย่างบริษัท ธนโชคออยล์ ไลท์ จำกัด และ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ร่วมทุนกันจัดตั้งบริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด (BSGF) เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน โดยมีแผนจะนำน้ำมันพืชที่ใช้แล้วจากการทำอาหาร (Used Cooking Oil) ซึ่งกลุ่มบางจากคาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 8,000-10,000 ล้านบาท

ทั้งนี้กลุ่มบางจากยังมีความเชื่อมั่นน้ำมัน SAF จะเติบโตได้เป็นอย่างดีในอนาคต และจะเป็นเชื้อเพลิงที่ภาคการบินทั่วโลกสามารถนำมาใช้ทดแทนได้ทันทีโดยไม่ส่งผลต่อเครื่องยนต์ อย่างไรก็ตามสำหรับความร่วมมือในครั้งนี้กลุ่มบางจากยืนยันว่าจะทำให้ BSGF เป็นผู้การผลิต “เชื้อเพลิงเครื่องบินคาร์บอนต่ำ” จากน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหารแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยและเป็นแห่งที่สองในภูมิภาคเอเชีย

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ BCP กล่าวว่า “เมื่อถนนทุกสายมุ่งสู่ Net Zero ทุก ๆ อุตสาหกรรมต่างก็หาวิถีที่เหมาะสมกับตนเอง ตัวอย่างเช่นวงการแข่งรถอย่าง Formula 1 ก็เตรียมเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงที่ยั่งยืน Sustainable Fuel 100% ในปี ค.ศ. 2026

สำหรับอุตสาหกรรมการบินนั้น SAF จากน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหารจะช่วยลดการปล่อย คาร์บอนไดออกไซด์ลงได้กว่า 80% เทียบเท่าการบินด้วยเชื้อเพลิงการบินในปัจจุบัน โดยในระยะแรกของการผลิตกลุ่มบางจากจะเริ่มการผลิตเริ่มต้น 1 ล้านลิตรต่อวัน ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทางและขนส่งทางอากาศลงได้ราว 80,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี สอดคล้องกับมาตรการขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil AviationOrganization: ICAO) และสมาคมการบินระหว่างประเทศ (InternationalAir Transport Association: IATA)ที่สนับสนุนให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในปีค.ศ. 2050

ด้าน นายธรรมรัตน์ ประยูรสุข รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน BCP ระบุว่า บางจากมุ่งต่อยอดการเติบโตจากศักยภาพใหม่ ๆ โดยนอกจากด้านการกลั่นและการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตแล้ว บริษัทฯ ได้มุ่งเน้นในส่วนของการผลิตผลิตภัณฑ์นอกเหนือจากน้ำมันยานยนต์และเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพตามความต้องการของตลาดหรือลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche Products Refinery) เช่น Unconverted Oil และเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ SAF ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วน EBITDA ของกลุ่มธุรกิจเชื้อเพลิงนอกยานยนต์เป็นกว่า 60% ภายใน พ.ศ. 2573 อย่างไรก็ตามสำหรับการลงทุนโรงกลั่นน้ำมัน SAF ในขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาเทคโนโลยี คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2566 ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 2 ปี พร้อมเปิดเดินเครื่องและเริ่มจำหน่ายน้ำมัน SAF ได้ในปี 2568

BAFS พร้อมเป็นผู้ตรวจสอบคุณสมบัติ

ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS กล่าวว่า กพท. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลภาคการบินก็มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาแล้ว ซึ่ง BAFS เป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานที่จะมาดูว่าประเทศไทยจะต้องกำหนดแนวนโยบายอย่างไร เพื่อสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมการบินรองรับการใช้น้ำมัน SAF ได้อย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ BAFS เล็งเห็นศักยภาพของประเทศไทยในการลงทุนพัฒนาผลิตน้ำมัน SAF เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีเศษวัสดุจากการเกษตรเหลือใช้จำนวนมาก สามารถนำมาเข้าสู่ขบวนการผลิตน้ำมัน SAF จึงได้ร่วมมือกับกลุ่มมิตรผล โดยบทบาทของ BAFS จะทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพน้ำมันว่าได้ตามมาตรฐานสากลที่เขารับรองหรือไม่ พร้อมกับให้บริการเติมน้ำมันอากาศยาน เพื่อให้สายการบินมั่นใจว่ามีความปลอดภัย

นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับกลุ่มบางจาก โดยกลุ่มบางจากจะใช้น้ำมันพืชที่ใช้แล้วมาเข้าขบวนการผลิตเพื่อกลั่นเป็นน้ำมัน SAF ส่วน BAFS ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพน้ำมันเช่นเดียวกับความร่วมมือกับกลุ่มมิตรผล ซึ่ง BAFS เชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมการผลิตและการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืนจะค่อยๆ เติบโต และจะมีสัดส่วนการใช้เพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากหลายประเทศมุ่งมั่นการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภาคอุตสาหกรรมการบินก็ต้องเปลี่ยนมาใช้น้ำมัน SAF

อย่างไรก็ตามสายการบินในยุโรปก็ได้เริ่มกำหนดเป้าหมายการใช้น้ำมัน SAF กันแล้ว โดยในปี 2030 วางเป้าหมายการใช้น้ำมัน SAF อย่างน้อย 10% ของปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานทั้งหมดในยุโรป ส่วนปี 2023 กำหนดเป้าหมายการใช้น้ำมัน SAF ไว้ที่ 3%