จับตา! รอยรั่วท่อส่งก๊าซ “ซอติก้า” ซ้ำเติมวิกฤตค่าไฟแพงหรือไม่

ผู้ชมทั้งหมด 1,178 

ปี พ.ศ.2565 ถือเป็นปีที่ประเทศไทย มีการเรียกเก็บ “อัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์” ประเดิมตั้งแต่งวดแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย. 2565) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) มีมติปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าฝันแปรอัตโนมัติ (Ft) โดยเรียกเก็บอัตรา 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ถัดมา งวดที่สองของปีนี้ (พ.ค.-ส.ค.2565) ปรับขึ้นอัตราค่า Ft อีก 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 4.00 บาทต่อหน่วย เป็นครั้งแรกที่ค่าไฟฟ้ามีอัตราสูงสุดเป็นประวัติการณ์

และล่าสุดที่ประชุม (บอร์ด) กกพ. ได้สรุปอัตราค่าไฟฟ้าฝันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดสุดท้ายของปีนี้ (ก.ย.-ธ.ค. 2565) ปรับอัตราเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 68.66 สตางค์ต่อหน่วย จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่าย 4.72 บาทต่อหน่วย นับเป็นอัตราสูงสุดใหม่(นิวไฮ)

สำหรับเหตุผลสำคัญที่กดดันให้อัตราค่าไฟฟ้าในปีนี้ “แพงเป็นประวัติการณ์” เกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่ ราคาก๊าซธรรมชาติ ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าปรับสูงขึ้นมากตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อันสืบเนื่องมากจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเคนร นโยบายเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกที่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำมันของโลก ขณะที่ประเทศไทยเอง ก็เจอวิกฤตซ้ำเติมจากปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ลดลงเนื่องจากเป็นช่วงปลายสัมปทาน จนทำให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาแพงมาผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับ บางช่วงเวลาค่าเงินบาทอ่อนค่าลงตามสภาวะเศรษฐกิจ 

แต่แล้ว ประเทศไทย ก็ต้องหวาดหวั่นอีกครั้ง ว่าจะเผชิญกับวิกฤตรอบใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าหรือไม่ หลังเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 1 ส.ค. 2565 เกิดเหตุรอยรั่วที่ท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก ของโครงการซอติก้า ส่งผลให้แรงดันในท่อส่งก๊าซฯ ลดลง ทาง บริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ปตท.สผ.อ.) สำนักงานย่างกุ้ง ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. จึงได้ปิดวาล์วของท่อก๊าซฯ และหยุดการส่งก๊าซฯ จากโครงการซอติก้ามายังประเทศไทยเป็นการชั่วคราวเพื่อความปลอดภัย จากการตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบร่องรอยจากการระเบิดหรือเพลิงไหม้ ปัจจุบัน อยู่ระหว่างตรวจสอบสาเหตุของการเกิดรอยรั่ว และเร่งเข้าพื้นที่เพื่อซ่อมแซมรอยรั่วดังกล่าว เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาซ่อมแซมประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ ก๊าซฯจากเมียนมาที่ส่งมาประเทศไทยหายไป 250 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ดังนั้น ต้องจับตาว่า หน่วยงายที่เกี่ยวข้องจะบริหารจัดการอย่างไร และจัดหาเชื้อเพลิงประเภทใดมาป้อนผลิตไฟฟ้าแทน และกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าหรือไม่ ซึ่งเหตุการณ์นี้ หากจะมีผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าจะไปสะท้อนต่อค่าไฟฟ้าในงวดถัดไป คือ งวดแรกของปี 2566 (ม.ค.-เม.ย.2566)

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน  กกพ. ) เปิดเผยว่า กกพ.เตรียมเชิญ ปตท.สผ.มาชี้แจง กรณีเกิดรอยรั่วที่ท่อส่งก๊าซฯ ทำให้ต้องหยุดส่งก๊าซฯมายังประเทศไทย 250 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ประมาณ 2 สัปดาห์ ว่ามีแผนรองรับอย่างไร และจะสามารถเรียกก๊าซฯจากแหล่งอื่นมาทดแทนได้หรือไม่ รวมถึง จะสอบถามกรณีแหล่งเอราวัณด้วย หลังจากที่ ปตท.สผ.เข้าไปเป็นผู้ดำเนินการและเร่งแผนผลิตแล้ว ปริมาณก๊าซฯจะเพิ่มขึ้นเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2567 หรือไม่ เพราะปัจจุบันยังผลิตก๊าซฯได้ต่ำกว่าแผน ทำให้ต้องนำเข้า LNG เพิ่มขึ้น

“ตอนนี้ กฟผ. ได้สั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าภาคตะวันตกที่เดิมรับก๊าซฯจากโครงการซอติก้า ให้เปลี่ยนมาใช้ดีเซลและก๊าซฯจากภาคตะวันออกทดแทน ซึ่งก๊าซฯจากทั้งอ่าวไทยและการนำเข้าLNG ก็จะมีผลต่อค่าไฟฟ้าในระยะต่อไปด้วย”

ส่วนอัตราค่าไฟฟ้าฝันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดสุดท้ายของปีนี้ (ก.ย.-ธ.ค. 2565) ปรับอัตราเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 68.66 สตางค์ต่อหน่วย และเมื่อรวมค่าไฟฐานเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 4.72 บาทต่อหน่วยนั้น เป็นการสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงเท่านั้น ยังไม่รวมกับการชำระหนี้ ค่าเชื้อเพลิงที่รัฐให้ กฟผ.ร่วมแบกรับภาระไว้ก่อน ที่ราว 83,010 ล้านบาท ส่วนจะมีการชำระหนี้คืน กฟผ. อย่างไรนั้น ยังต้องหารือร่วมกันในระยะต่อไป

ขณะที่ทิศทางค่าไฟฟ้า ในปี 2566 ยังเป็นขาขึ้น ส่วนจะมีแนวโน้มปรับลดค่าไฟฟ้าลงได้หรือไม่นั้น ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าแหล่งเอราวัณ จะสามารถเพิ่มกำลังผลิตก๊าซฯได้ตามแผนหรือไม่ หากทำได้ตามแผน ก็จะลดการพึ่งพาการนำเข้าLNG ลดลง อย่างไรก็ตาม ในยามที่วิกฤตค่าไฟแพง สิ่งที่ดีที่สุดคือ คนไทยทั้งประเทศควรร่วมกับประหยัดการใช้ไฟฟ้าลง เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า

ด้าน กระทรวงพลังงาน ไม่รอช้า หลังพบเกิดเหตุหยุดการส่งก๊าซฯ จากแหล่งซอติก้า ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติ 1 ใน 3 แหล่งสำคัญที่นำเข้าจากเมียนมา จากปัญหารอยรั่วของท่อส่งก๊าซบนบก โดยก๊าซฯจากแหล่งดังกล่าวถูกส่งเป็นเชื้อเพลิงและใช้สำหรับการผลิตไฟฟ้าให้กับโรงไฟฟ้าราชบุรี โรงไฟฟ้าพระนครใต้และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงพลังงาน เรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วนในวันที่ 1 ส.ค. 2565 ทั้งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมธุรกิจพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อประเมินสถานการณ์และจัดหาเชื้อเพลิงทดแทน และสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดหาเชื้อเพลิงให้เพียงพอ

พร้อมยืนยันว่าเหตุการณ์ดังกล่าว จะไม่กระทบกับการจัดหาไฟฟ้าของประเทศ เนื่องจากได้ดำเนินการตามแผนรองรับสถานการณ์ที่ได้มีการซักซ้อมแล้วอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เบื้องต้นได้บริหารจัดการเพื่อใช้เชื้อเพลิงจากแหล่งอื่นทดแทนในการผลิตไฟฟ้า ทั้งในส่วนก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นๆ และน้ำมันเชื้อเพลิง

สำหรับการพิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าฝันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดสุดท้ายของปีนี้ (ก.ย.-ธ.ค. 2565)  เดิม กกพ. เตรียมแถลงข่าวการพิจารณาอัตราค่าไฟฟ้า (Ft) เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2565 แต่สุดท้ายได้เลื่อนการแถลงออกไป โดยมีรายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงเรื่องการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า และมีการสอบถามข้อมูล จาก บอร์ด กกพ.ว่าจะชะลอการขึ้น โดยเตรียมหารือกับ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มี​เชาว์​ รองนายกรัฐมนตรี​และ​รัฐมนตรี​ว่าการกระทรวงพลังงาน คณะกรรมการกำกับ​กิจการพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ง​ประเทศ​ไทย (กฟผ.)​ ในวันที่ 4 ส.ค. 2565 โดยจะให้ กฟผ. เข้ามาช่วยแบกรับภาระต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นหรือแบกรับค่า Ft แทนประชาชนต่อเนื่องอีกงวด

ขณะที่ ปัจจุบัน กฟผ.จะมีภาระค่า Ft สะสมถึงเดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ประมาณ 87,849 ล้านบาท ทำให้สภาพคล่องทางการเงินของ กฟผ. ในปี 2565 ลดลงต่อเนื่อง และก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2565 ได้อนุมัติตามที่กระทรวงพลังงาน เสนอให้ กฟผ. เพิ่มวงเงินกู้ระยะสั้นแบบ Credit Line จากวงเงินเดิม 10,000 ล้านบาท เป็น 30,000 ล้านบาท จนถึงวันที่ 11 กันยายน 2567

ดังนั้น ต้องจับตาดูว่า สุดท้ายแล้วค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปีนี้ จะปรับขึ้นในอัตราที่ทำสถิติใหม่หรือไม่ รวมถึง กฟผ.ยังต้องเข้ามาร่วมแบกรับภาระเพิ่มขึ้นอย่างไร และ ก๊าซฯจากโครงการซอติก้าที่หายไป จะซ้ำเติมภาระค่าไฟฟ้าในอนาคตหรือไม่ นับว่า การบริหารจัดการค่าไฟฟ้าแพง ยังเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลชุดนี้ ที่จะต้องเร่งแก้ไข ก่อนจะกลายเป็นวิกฤตซ้ำเติบการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลากยาวถึงปีหน้า