บอร์ด กบน.เตรียมถก ม.ค.นี้ เคาะปรับสเปคดีเซล

ผู้ชมทั้งหมด 1,412 

บอร์ด กบน.เตรียมถก ม.ค.นี้ เคาะปรับสเปคดีเซลหรือไม่ หลังกำหนดให้ทั่วประเทศเหลือจำหน่ายเกรดเดียว บี7 จะสิ้นสุด มี.ค.นี้ ขณะที่ราคา บี100 ทะลุ 50 บาทต่อลิตร จ่อเสนอรัฐเลื่อนแผนยกเลิกชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ ออกไปอีก 2 ปี บรรเทาวิกฤตน้ำมันแพง

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ในเดือน ม.ค. นี้ จะมีการหารือถึงแผนการยกเลิกชดเชยเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งเบื้องต้นกระทรวงพลังงาน มีแนวโน้มจะต้องขอเลื่อนเวลา “แผนยกเลิกการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ” ออกไป 2 ปี

รวมถึงหารือเพื่อเตรียมความพร้อมล่วงหน้ากรณีมาตรการปรับลดสัดส่วนผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100% หรือ B100 ในน้ำมันกลุ่มดีเซลทุกชนิด เหลือ 7% หรือ B7 ที่จะสิ้นสุดในเดือน มี.ค.นี้ ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ หลังราคา B100 ปรับขึ้นไปถึง 50 บาทต่อลิตร จากเดิมอยู่ระดับ 30-40 บาทต่อลิตร ขณะที่ต้นทุนราคาน้ำมันดิบตลาดโลกยังคงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ต้องแบกรับภาระชดเชยราคาน้ำมันกลุ่มดีเซล จนสภาพคล่องติดลบ 7,327 ล้านบาท

“ตอนนี้ กองทุนฯติดลบเพิ่มขึ้น มีหลายปัจจัยลบเข้ามาซ้ำเติมทั้งราคาตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น และราคา B100 ก็แพงขึ้น ขณะที่เงินกองทุนน้ำมันฯติดลบขึ้นต่อเนื่อง ก็ต้องหารือที่ประชุม กบน.ว่าจะคงสัดส่วนการผสมหรือ ลดสัดส่วนอย่างไร ก็ต้องหาแนวทางที่ดูแลเสถียรภาพกองทุนฯ และผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำมัน”

นอกจากนี้ กบน.ยังจะพิจารณาอนุมัติการใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ เพื่อต่ออายุมาตรการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) ไว้ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ไปจนถึงเดือน มี.ค. 2565 ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังาน(กบง.) ที่ผ่านมาด้วย

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า สำหรับ “แผนยกเลิกการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ” นั้น กระทรวงพลังงาน มีแนวโน้มจะขอขยายระยะเวลาดำเนินการออกไป 2 ปีจากเดิมที่กฎหมาย พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 กำหนดให้ยกเลิกการชดเชยเชื้อเพลิงชีวภาพภายในปี 2565 หรือ ภายใน 30 ก.ย. 2565 แต่เนื่องจากกฎหมายยังเปิดช่องให้กรณีไม่ทันสามารถดำเนินการได้ทัน สามารถขอขยายกรอบเวลาเลื่อนการใช้มาตรการดังกล่าวออกไปได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี

ประกอบกับสถานการณ์ราคาน้ำมันในปัจจุบัน อยู่ในภาวะวิกฤตส่งผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน หากยกเลิกการชดเชยในจังหวะนี้ อาจเป็นการซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่ยังอยู่ในช่องบอบช้ำจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางกระทรวงพลังงาน จึงเห็นว่าน่าจะขอขยายระยะเวลายกเลิกฯ ออกไปก่อน  

โดยขั้นตอนขอเลื่อนแผนยกเลิกชดเชยฯนั้น สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) จะต้องจัดทำแผนฯนำเสนอต่อกบน.พิจารณา และยื่นเรื่องเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานเห่งชาติ(กพช.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป เพื่อให้แผนยกเลิกชดเชยฯ ขยับไปมีผลบังคับ ใช้ภายใน 30 ก.ย. 2567 แทน