บางจากฯ ลงนามรับซื้อ “ข้าวลดโลกร้อน” หนุนเกษตรกรปลูกข้าวคาร์บอนต่ำ

ผู้ชมทั้งหมด 554 

นางกลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อความยั่งยืน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ นายชาญวิทย์ ตรังอดิศัยกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการลงทุน บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ในฐานะกรรมการ บริษัท ออมสุข วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือส่งเสริมข้าวลดโลกร้อน (Thai Rice NAMA) และคาร์บอนเครดิตจากนาข้าวเปียกสลับแห้ง ระหว่าง บริษัท ออมสุข วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด กับ วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ ต.เดิมบาง อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี นำโดย นายถาวร คำแผง ประธานวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ เพื่อร่วมส่งเสริมการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตจากภาคเกษตรกรรม โดยการรับซื้อข้าวลดโลกร้อนจำนวน 40 ตัน จากการสนับสนุนกลุ่มชาวนารักโลกที่ปรับเปลี่ยนวิถีการทำนาจากวิถีดั้งเดิมมาเป็นการใช้นวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีเลเซอร์ปรับพื้นนา และทำนาเปียกสลับแห้ง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้โครงการ “ไทยไรซ์ นามา” (Thai Rice NAMA)


นางกลอยตา กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจของบริษัท ออมสุขวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ที่จัดตั้งขึ้นโดยบางจากฯ และบีซีพีจี คือการช่วยสนับสนุนสหกรณ์การเกษตรและเครือข่ายของบางจากฯ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดี รวมถึงศึกษาโอกาสในการต่อยอดสู่ธุรกิจในกลุ่มบริษัทบางจาก ผ่านการจัดหาและจำหน่ายสินค้าที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ด้วยการเชื่อมโยงกับการเกษตร โดยในวันนี้ เป็นการลงนามในบันทึกความร่วมมือส่งเสริมข้าวลดโลกร้อน (Thai Rice NAMA) และคาร์บอนเครดิตจากนาข้าวเปียกสลับแห้ง และรับซื้อข้าวลดโลกร้อน 40 ตัน เพื่อนำมาเป็นสินค้าสมนาคุณแก่ลูกค้าสถานีบริการบางจากในเดือนมิถุนายน ในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ราว 30% เทียบกับวิธีทำนาปกติ

นอกจากนี้ บางจากฯ ยังมีแผนสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคเกษตรกรรม ผ่าน Carbon Markets Club และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดต้นทุนการผลิตในภาคการเกษตร ผ่านโครงการโซลาร์ปันสุขของมูลนิธิใบไม้ปันสุข ที่ก่อตั้งขึ้นโดยบางจากฯ อีกด้วย


การลงนามในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้บริหารจากภาคีภาครัฐและเอกชนร่วมงานและหารือเกี่ยวกับแนวทางการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง รวมถึงการร่วมสนับสนุนการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต ได้แก่ นายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการสำนักงานแผนและนโยบายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายปริญญา กิตติการุญจิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจค้าปลีก บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นายฉัตรชัย ลอยบัณดิษฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการลงทุน บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) นายอภิสิทธิ์ เสนาวงค์ นักวิชาการชำนาญพิเศษ สำนักรับรองคาร์บอนเครดิต องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) นายปุญชรัสมิ์ ปลั่งดี เกษตรอำเภอ กรมส่งเสริมการเกษตร นางนิตยา รื่นสุข ที่ปรึกษานวัตกรรมการผลิตข้าว ด้วยเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ กรมการข้าว นายไพรัช หวังดี ผู้จัดการภาคสนามอาวุโส โครงการ Thai Rice NAMA องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)


นายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการสำนักงานแผนและนโยบายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันทำให้โครงการนี้เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรผู้ผลิตข้าวลดโลกร้อนและกลุ่มบริษัทบางจาก ที่มาช่วยต่อยอดให้โครงการให้สำเร็จลุล่วงได้ผ่านบริษัท ออมสุข วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เพราะการขยายองค์ความรู้ไปสู่เกษตรกร เมื่อเกษตรกรทำแล้วเห็นประโยชน์จริง ถ้าไม่มีตลาดรองรับ ไม่ก่อให้เกิดรายได้ การดูแลสิ่งแวดล้อมนั้นจะเป็นไปอย่างยั่งยืนได้ยาก การทำนาเปียกสลับแห้ง หรือเรียกอีกชื่อว่า ทำนาแบบ 1 แห้ง 5 ประโยชน์สามารถช่วยลดปริมาณก๊าซมีเทนที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศลงได้มาก ซึ่งมีเทนเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีคุณสมบัติทำให้โลกร้อนขึ้นมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 27 เท่า การเปลี่ยนทัศนคติในภาคเกษตรกรรมจึงเป็นหนึ่งในกุญแจแห่งความสำเร็จต่อเป้าหมายของประเทศไทยที่จะเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปีค.ศ. 2065

โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai Rice NAMA – Nationally Appropriate Mitigation Action) เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตข้าวรูปแบบใหม่ของชาวนา ไม่ปล่อยให้น้ำขังอยู่ในพื้นที่นา ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน (พาดินไปหาหมอ) ไม่เผาฟางข้าว และใช้เลเซอร์ปรับหน้าดินให้เรียบเสมอกันเพื่อประสิทธิภาพการเพาะปลูก เป็นแบบอย่างที่ดีของการทำนาและเป็นโอกาสที่ภาคเกษตรกรรมของไทยจะก้าวสู่การทำการเกษตรแบบคาร์บอนต่ำ เพื่อช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นประเด็นที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ