“บางจาก”เล็งลงทุนโรงงานแบตเตอรี่ในยุโรป

ผู้ชมทั้งหมด 927 

บางจากฯ เล็งเจรจาพันธมิตร ศึกษาลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในยุโรป พร้อมลุยขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเป็น 400-500 แห่งครอบคลุมทั่วทุกภาคภายใน 3 ปี  

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP เปิดเผยว่า แผนการลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมของบางจากฯ คงต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาอย่างละเอียด และรอบครอบ ยังไม่เร่งรีบตัดสินใจลงทุน โดยขอรอดูทิศทางเทคโนโลยีให้ชัดเจนก่อน เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยียังไม่นิ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและอัพเกรดตลอดเวลา และยังมีความไม่แน่นอนว่าแต่ละบริษัทจะใช้แบตเตอรี่รุ่นไหน เพราะขนาดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนยังมี 7-8 ประเภท

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันการลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในปะเทศไทยก็เห็นมีการประกาศลงทุนแล้ว 2-3 รายในไทยค่อนข้างใหญ่พอสมควร เมื่อเทียบกับดีมานด์ก็ไม่แน่ใจว่าซัพพลายจะมากกว่าดีมานด์หรือยัง ซึ่งการลงทุนบางจากฯ ไม่ได้ศึกษาแค่ในประเทศไทยอย่างเดียว แต่ก็ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนที่ยุโรปด้วย เนื่องจากที่ยุโรปเป็นผู้นำทางด้านแบตเตอรี่ และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) อยู่แล้ว ซึ่งทางบางจากฯ ก็ต้องไปศึกษาว่าเทคโนโลยีในยุโรปว่ามีอะไรบ้าง แต่ก็ขึ้นอยู่กับเวลาและจังหวะที่เหมาะสม

ดังนั้น การจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ยังอยู่ในแผนการลงทุนของบางจากฯ เพียงแค่กำลังดูว่า จะลงทุนที่ไหนเท่านั้นเอง มันเป็นเรื่องของภูมิศาสตร์ (Geographic) มากกว่า ซึ่งบางจากฯ ไม่ได้ชะลอการลงทุนแต่อย่างใด แต่ต้องพิจารณาว่าการลงทุนตรงไหนจะเกิดโครงการได้เร็วสุด ซึ่งตรงไหนมีโอกาสมากก็จะเข้าไปลงทุน

ส่วนความคืบหน้าโครงการร่วมลงทุนพัฒนาเหมืองแร่ลิเทียม หรือ Lithium Americas Corp. (LAC) ที่อาร์เจนตินา ที่ทางบางจากฯ ได้ขายหุ้นไปก่อนหน้านี้ และเหลือสัดส่วนถือหุ้นแค่ 0.5% นั้น บางจากฯ ยังคงได้รับสิทธิตามสัดส่วนที่เคยตกลงไว้ที่ 6,000 ตันต่อปี ซึ่งบางจากฯ มีแผนแล้วว่าจะนำไปต่อยอดอย่างไร แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้โครงการได้เลื่อนแผนการผลิตเชิงพาณิชย์เป็นช่วงในปลายปี 2564 จากเดิมที่มีกำหนดจะทำตลาดต้นปี 2564 ก็อาจจะเลื่อนออกไปอีก ซึ่งก็ต้องรอดูผลกระทบจากโควิด-19 ระยะต่อไป ขณะที่ราคาแร่ลิเทียม ปัจจุบันเริ่มกลับมาแตะระดับ 15,000-16,000 ดอลลาร์ต่อตัน จากปีก่อนราคาตกต่ำเหลือประมาณ 8,000 ดอลลาร์ต่อตัน

สำหรับความคืบหน้าในการร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ในสถานีบริการน้ำมันของบางจากนั้น ปัจจุบันดำเนินการติดตั้งไปได้แล้วกว่า 50 แห่ง คาดว่าสิ้นปีนี้ จะครบ 200 แห่ง และใน 3 ปีข้างหน้า จะเพิ่มเป็น 400-500 แห่งครอบคลุมทั่วทุกภาคและถนนเส้นหลักในประเทศไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้รถยนต์ EV ที่ต้องการเดินรถทางไกล หรือออกต่างจังหวัด ในทุกๆระยะทาง 50-100 กิโลเมตร โดยคิดอัตราค่าบริการชาร์จไฟฟ้าในช่วงกลางคืนที่ 4 บาทต่อหน่วย และกลางวันที่ 7 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้เพื่อรองรับการใช้รถยนต์ EV ในประเทศไทย บางจากฯ มีแผนที่จะลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าในย่านชานเมือง ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาหาพันธมิตรร่วมลงทุนและบางจากฯ พร้อมเปิดกว้างความร่วมมือกับพันธมิตรที่หลากหลาย เพื่อให้สถานีอัดประจุไฟฟ้ามีประสิทธิภาพพร้อมรองรับการใช้งานกับรถ EV ทุกยี่ห้อและต้องเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

อย่างไรก็ตามาการลงทุนติดตั้งสถานีอัประจุไฟฟ้ายังมีผลตอบแทนที่ต่ำ แต่ก็ต้องลงทุนเพื่อกระตุ้นตลาด สร้างความเชื่อมั่นในผู้ใช้รถยนต์ EV ซึ่งในช่วงระยะเวลา 3-5 ปีข้างหน้า รถยนต์ EV ยังเป็นรถคันที่สองเพราะราคาค่อนข้างสูง ซึ่งผู้ใช้ยังกังวลเรื่องสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ