ปตท. คว้าสัญญาจัดหา LNG ระยะยาวอีก 1 ล้านตันต่อปี หนุนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ

ผู้ชมทั้งหมด 486 

บอร์ด กพช. เห็นชอบให้ ปตท.จัดหา LNG สัญญาระยะยาวอีก 1 ล้านตันต่อปี จากสัญญาเดิม 5.2 ล้านตันต่อไป เพิ่มความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ขณะที่ “นายกฯ” กำชับ กกพ.กำกับดูแลการจัดหา LNG ให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ ตามมาตรฐานสากล

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 5/2565 ผ่านระบบ Video Conference วันนี้(7 ก.ค.2565) โดยได้พิจารณาข้อเสนอการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) สัญญาระยะยาวของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่ง กพช. มีมติเห็นชอบให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) จัดหา LNG สัญญาระยะยาว ปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี เพิ่มเติมจากสัญญาระยะยาวที่มีการลงนามแล้ว 5.2 ล้านตันต่อปี และรับทราบในรายละเอียดสาระสำคัญการจัดหา LNG ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบจะไปดำเนินการ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือ เร่งดำเนินการต่อไป เพื่อจัดหาก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอในระยะยาว และมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เป็นผู้กำกับดูแลให้ราคาเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กพช. กำหนด และให้ ปตท. นำสัญญาซื้อขาย LNG สัญญาระยะยาว เสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการต่อไป 

ทั้งนี้ สถานการณ์ด้านพลังงานขณะนี้ ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดจะต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยคำนึงถึงหลักการ ข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ทั้งหมด ซึ่งคณะกรรมการ กพช. ก็ดำเนินงานด้วยดีมาโดยตลอด สิ่งที่สำคัญคือความเข้าใจ ความไว้วางใจ โดยขอให้ทุกคนได้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากช่องทางสื่อต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การทำความเข้าใจ มีเหตุผลในการชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน พร้อมย้ำว่าสิ่งสำคัญในวันนี้คือการขับเคลื่อนไปสู่การประหยัดพลังงาน ที่ต้องมีรูปแบบการประหยัดพลังงานที่จะเกิดผลตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง และส่งผลกับประชาชน ซึ่งประชาชนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมช่วยกันประหยัดพลังงานด้วย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ขอบคุณในการทำงานอย่างหนักของคณะกรรมการ กพช. ทุกคนที่ช่วยกันทำให้บ้านเมืองมีความเข้มแข็งด้านพลังงาน และขอให้ทุกคนได้ภูมิใจในการทำงานเพื่อประชาชน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG มีหลักการและเหตุผลในการประเมินไว้ล่วงหน้าเกี่ยวกับ LNG ทั้งความเสี่ยงของราคา ปริมาณการนำเข้า ซึ่งคาดการณ์ว่าในระยะยาวอาจจะมีผลกระทบกับประเทศไทย ดังนั้น การตกลงจัดหาซื้อก๊าซไว้ล่วงหน้าจะเป็นประโยชน์กับประเทศในอนาคต ซึ่งข้อเสนอการจัดหาก๊าซ LNG ของ ปตท. เป็นการลดความเสี่ยงในการจัดหา LNG ในอนาคต และเป็นส่วนสำคัญที่จะเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ขอฝากให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ  กกพ. ได้ติดตามผลกระทบต่อราคาอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานในประเทศในอนาคต เพราะการนำเข้าก๊าซจะเกิดขึ้นในปี 2569 ในขณะที่ความผันผวนด้านราคาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอาจจะสิ้นสุดลงแล้ว หรืออาจจะมีต่อไปก็ได้ ดังนั้นจะเสี่ยงไม่ได้ โดยต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ การแข่งขันของผู้ประกอบการ รวมทั้งขอให้ กกพ. กำกับดูแลการจัดหา LNG ให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นไปตามมาตรฐานสากล ให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี