ปตท.คาดปีนี้ความต้องการใช้ก๊าซโต5-7%สอดรับเศรษฐกิจฟื้น

ผู้ชมทั้งหมด 894 

ปตท. เผยความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติปี 64 แนวโน้มสูงกว่าปี 62 ก่อนโควิดระบาด เติบโตกว่าปี  63 ราว 5-7% สอดรับกับเศรษฐกิจฟื้นตัว พร้อมประเมิน Shipper รายใหม่จะนำเข้า LNG ราว 0.8-1.3 ล้านตัน ขณะที่ราคา Spot LNG อยู่ที่11-12เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในไทยปี 2564 มีแนวโน้มสูงกว่าปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการระบาดไวรัสโควิด – 19 ที่มีปริมาณการใช้เฉลี่ยนในระดับ 4,700-4,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งสูงกว่าปี 2563 ราว 5-7% ที่มีการใช้ก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยในระดับ 4,300-4,400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทั้งนี้ปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นในปีนี้สอดรับกับเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว และการส่งออกที่ดีขึ้น

ส่วนปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รวมในปี 2564 คาดว่าจะอยู่ในระดับ 6-6.5 ล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณการนำเข้าตามสัญญาระยะยาว 5.2 ล้านตัน โดยในเบื้องต้นคาดว่ายังคงเหลือให้ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper LNG) สามารถนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 0.8-1.3 ล้านตัน ภายใต้การเปิดเสรีก๊าซฯ ระยะที่ 2 ที่คาดว่าจะสามารถเริ่มนำเข้าได้ในช่วงไตรมาส 3/2564 ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับคณะทำงานของกระทรวงพลังงานที่มีกรมเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และ ปตท. ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา

อย่างไรก็ตามแม้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวตลาดจร (Spot LNG ) จะยังคงเฉลี่ยในระดับสูงที่ 11-12 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู และยังมีแนวโน้มที่ราคา Spot LNG จะปรับสูงขึ้นอีกหากเข้าสู่ปลายปีเป็นช่วงฤดูหนาวความต้องการใช้ LNG จะเพิ่มขึ้นทำให้ราคาเพิ่มขึ้น ถึงแม้ราคาจะอยู่ในระดับสูงแต่ก็เชื่อว่ายังมีโอกาสที่ Shipper รายใหม่จะนำเข้าได้

ส่วนกรณีที่บริษัท พีทีที โกลบอล แอลเอ็นจี จำกัด (PTTGL) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ปตท. และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) ยังไม่ได้รับใบอนุญาต Shipper LNG นั้น เนื่องจากทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( กกพ.) ได้ขอเอกสารเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติ ซึ่ง ปตท.จะเร่งดำเนินการให้ครบตามกระบวนการ โดยจะส่งข้อมูลรายละเอียดปริมาณการนำเข้า LNG และอื่นๆให้กับกกพ. เพิ่มเติม