ปตท. คาดราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยปีนี้ แตะ 103-104 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ผู้ชมทั้งหมด 600 

ปตท.ประเมิน ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบ ปีนี้ แตะ 103-104 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ปีหน้า ลุ้นราคาอ่อนตัวต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังโอเปกเพิ่มกำลังการผลิต พร้อมแนะประชาชนร่วมมือประหยัดพลังงานช่วงวิกฤตราคาแพง ยันเดินหน้าขยายการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ตามแผน 5 ปี รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต ขณะที่โรงกลั่นฯ พร้อมให้ความร่วมมือรัฐจัดเก็บกำไรส่วนค่าการกลั่นเข้ากองทุนน้ำมันฯ ชี้ ยังรอตีความข้อกฎหมาย และออกกติการองรับแนวทางปฎิบัติให้ชัดเจน 

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT ประเมินว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะทรงตัวในระดับสูงที่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลบวกลบ หรือ มีราคาเฉลี่ยทั้งปีนี้ อยู่ที่ระดับ 103-104 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งนับว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ต้นทุนราคาขายปลีกพลังงานโดยรวมของไทยทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซNGV และก๊าซLPG ยังอยู่ในระดับสูง ดังนั้น แนวทางรับมือที่ดี คือ ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันประหยัดการใช้พลังงาน เพื่อลดต้นทุนการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศในช่วงที่ราคาแพง ขณะที่ทุกธุรกิจในกลุ่ม ปตท.ได้มีการทำประกันความเสี่ยงราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาไว้รองรับแล้ว 

ส่วนปีหน้า คาดว่า ราคาน้ำมันดิบจะอ่อนตัวลงต่ำกว่าระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ หากไม่มีสถานการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เช่น ปัญหาสู้รบระหว่างประเทศมหาอำนาจ และการคว่ำบาตรรัสเซียที่ไม่รุนแรงขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลงในปีหน้า เนื่องจากคาดว่าจะมีซัพพลายน้ำมันดิบเข้าสู่ตลาดมากขึ้น หลังกลุ่มประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก(โอเปก) เตรียมทยอยปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเดือนละ 6 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งถึงสิ่นปีนี้ น่าจะมีซัพพลายน้ำมันดิบป้อนเข้าสู่ตลาดอีก 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับทิศทางเศรษฐกิจโลกไม่ได้เติบโตมากนัก ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันยังไม่หวือหวา จึงน่าจะส่วผลให้ราคาน้ำมันอ่อนตัวลงได้ ขณะที่ต้นทุนราคาพลังงานอื่นๆ เช่น ก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ก็คาดว่าจะเริ่มทยอยอ่อนตัวลงตามทิศทางราคาน้ำมัน แต่ในส่วนของLNG ราคาจะยังปรับขึ้น-ลงตามซีซั่น 

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานของ ปตท.ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ คาดว่า ยอดขายจะปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ที่ผ่านมาและสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง และมีการเปิดประเทศทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ เริ่มกลับมาคึกคักมากขึ้น ดังนั้นน่าจะส่งผลให้รายได้ปรับสูงขึ้น โดยเบื้องต้นพบว่า ยอดการใช้น้ำมันในปัจจุบันเริ่มกลับมาฟื้นตัวใกล้เคียงกับช่วงปี 2562 ที่เป็นสถานการณ์ปกติก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีนี้ กลุ่มปตท.ยังเดินหน้าขยายการลงทุนด้านพลังงานตามแผนลงทุน 5 ปี เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานพลังงานที่ต้องวางแผนการลงทุนระยะยาว เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต แต่การลงทุนในธุรกิจที่ไม่ใช่เทรนด์ของอนาคตกลุ่ม ปตท.ก็จะไม่ลงทุนเพิ่มเติม เช่น ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน เป็นต้น 

“วิธีการที่ดีที่สุดในยามเกิดวิฤกตพลังงาน คือ การประหยัดพลังงาน และปตท. มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจโดยยึด 3 เรื่องหลัก คือ1.ความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งวันนี้ไทยไม่ได้เผชิญกับปัญหาการขาดแคลน 2.ราคาพลังงาน ซึ่งต้องเป็นไปตามตลาดการค้าเสรี และ3.คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องวางแผนให้เกิดสมดุลในทุกด้าน และไม่ถูกกระทบจากกติกากีดกันทางการค้าของโลก”

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงปัจจุบัน ปตท.ได้เข้าไปช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนราคาพลังงานให้กับกลุ่เปราะบางทั้งการใช้ส่วนลดราคาNGVและLPG รวมเป็นงบประมาณเกือบ 3,300 ล้านบาทแล้ว และจะยังยืดอายุมาตรการช่วยเหลือตามนโยบายรัฐต่อไปอีก 3 เดือน เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบาง 

“วอลุ่มการใช้พลังงานของไทย ถือว่าใหญ่มาก ที่ผ่านมามีมูลค่าราว 2 ล้านล้านบาท และสิ้นปีนี้ น่าจะเกือบ 3 ล้านล้านบาทสูงขึ้นตามต้นทุนพลังงานที่แพงขึ้น ฉะนั้น มุ่งความช่วยเหลือไปเฉพาะที่กลุ่มคนเปราะบาง น่าจะเป็นสิ่งที่ดำเนินการได้ในภาวะวิฤกต ควบคู่กับการประหยัดพลังงาน ส่วนมาตรการช่วยเหลือจะเป็นอย่างไรนั้น จะต้องรอความชัดเจนจากนโยบายภาครัฐ” นายอรรถพล กล่าว

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน กล่าวว่า กรณีที่ภาครัฐขอความร่วมมือให้ 6 โรงกลั่นน้ำมัน ประกอบด้วยบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ,บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ,บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอลจำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ,บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ,บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) หรือ ESSO และบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC เร่งสรุปแนวทางนำส่งเงินกำไรส่วนหนึ่งจากค่าการกลั่นเข้าสู่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงวิกฤตน้ำมันแพงนั้น ขณะนี้ทั้ง 6 โรงกลั่นยังอยู่ระหว่างการพูดคุยกับหน่วยงานภาครัฐ ถึงแนวทางดำเนินการเพื่อหาทางออกที่ดีร่วมกัน โดยเบื้องต้น มองว่า ภาครัฐควรจะต้องออกระเบียบกติกา หรือ ข้อกฎหมายขึ้นมารองรับการดำเนินให้เกิดความชัดเจน และตอบข้อสงสัยของทุกฝ่ายได้ เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาหรือปัญหาฟ้องร้องตามหลัง ขณะเดียวกัน การเก็บส่วนต่างจากกำไรค่าการกลั่น อาจใช้กฎหมาย พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ เข้ามาดำเนินการได้ แต่ก็ต้องรอให้คณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาข้อฎหมายต่างๆให้ถี่ถ้วน และน่าจะต้องมีการออกกฎหมายลูกขึ้นมารองรับด้วย ซึ่งก็น่าจะใช้เวลาดำเนินการสักระยะ ดังนั้น ตามแผนเดิมที่ภาครัฐต้องการให้ทั้ง 6 โรงกลั่น เริ่มดำเนินการจัดส่งส่วนต่างค่าการกลั่นเข้าสู่กองทุนน้ำมันฯ 3 เดือน เรื่องตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย.นั้น ก็อาจจะต้องขยับระยะเวลาดำเนินการออกไปจนกว่า การพิจารณาข้อฎหมายต่างๆเพื่อมารองรับการดำเนินการจะแล้วเสร็จ 

ส่วนหลักเกณฑ์การเก็บเงินจากส่วนต่างกำไรของค่าการกลั่นเข้าสู่กองทุนน้ำมันฯจะเป็นเท่าไหร่นั้น ยังต้องเจรจาร่วมกันเพราะขณะนี้ ธุรกิจโรงกลั่น ต้องเผชิญกับความเสี่ยง จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้น และเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งการอ่อนค่าของเงินบาท ราว 1 บาทต่อดอลลาร์ จะกระทบต่อต้นทุนราคาประมาณ 20 สตางค์ต่อลิตร ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP)ประเทศ ปีนี้ อาจไม่ถึง 2.5-3% ตามที่ประเมินไว้ อย่างไรก็ตาม การดูแลผลกระทบจากราคาน้ำมันไม่ให้ปรับสูงขึ้นจนเกินไปก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินการเพื่อพยุงการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ด้วยเช่นกัน