ปตท.สผ.ทุ่มงบ5ปี23,637ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมวางเป้าปริมาณการขายโตเฉลี่ย6%

ผู้ชมทั้งหมด 825 

ปตท.สผ. อัดงบลงทุน 5 ปี จำนวน 23,637 ล้านเหรียญสหรัฐ ทยอยลงทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 64 – 68 ขณะปี 64 ตั้งงบลงทุนไว้ 4,196 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยยังคงรักษากำลังการผลิตจากโครงการหลัก พร้อมเร่งพัฒนาโครงการสำคัญ เพื่อเริ่มการผลิตให้ได้ตามแผน รวมถึงใช้ลงทุนในกิจกรรมสำรวจ พร้อมแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ ตั้งเป้าปริมาณการขายปิโตรเลียมเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 6

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า บริษัทตั้งงบลงทุน 5 ปี (2564-2568) ไว้ 23,637 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยแบ่งเป็นรายจ่ายลงทุน (Capital Expenditure หรือ CAPEX) จำนวน 14,020 ล้านเหรียญสหรัฐ รายจ่ายดำเนินงาน (Operating Expenditure หรือ OPEX) จำนวน 9,617 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการขยายการลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนต่อเนื่องจากปี 64

สำหรับงบลงทุนในปี 64 บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ที่ 4,196 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 132,174 ล้านบาท) โดยแบ่งเป็นรายจ่ายลงทุน CAPEX จำนวน 2,588 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 81,522 ล้านบาท) และรายจ่ายดำเนินงาน OPEX จำนวน 1,608 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 50,652 ล้านบาท) เพื่อรองรับแผนงานหลัก ดังนี้

  1. รักษาปริมาณการผลิตจากโครงการผลิตหลักที่สำคัญ ได้แก่ โครงการเอส 1 โครงการบงกช โครงการอาทิตย์ โครงการในประเทศมาเลเซีย และโครงการซอติก้าในประเทศเมียนมา รวมถึง เตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินการโครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ) และโครงการจี 2/61 (แหล่งบงกช) โดยได้จัดสรรรายจ่ายลงทุน จำนวน 1,943 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 61,204 ล้านบาท)
  2. เพิ่มปริมาณการผลิตในอนาคต โดยมุ่งเน้นและผลักดันโครงการหลักที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา ได้แก่ โครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน และโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ให้สามารถเริ่มการผลิตได้ตามแผน และเร่งการพัฒนาโครงการมาเลเซีย ซาราวัก เอสเค 410 บี ซึ่งประสบความสำเร็จในการเจาะสำรวจเมื่อปลายปีที่แล้ว ให้สามารถเข้าสู่ขั้นตอนของการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision) โดยบริษัทได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนในส่วนนี้ เป็นจำนวนเงิน 493 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 15,530 ล้านบาท)
  3. เร่งกิจกรรมการสำรวจเพื่อค้นหาทรัพยากร รองรับการเติบโตในระยะยาว โดยได้จัดสรรรายจ่ายลงทุน จำนวน 152 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 4,788 ล้านบาท) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายในการเจาะหลุมสำรวจและประเมินผลสำหรับโครงการสำรวจในประเทศมาเลเซีย และประเทศเม็กซิโก
S1 Project

อย่างไรก็ตามจากแผนงานดังกล่าว ปตท.สผ. คาดว่าจะสามารถเพิ่มอัตราการเติบโตของปริมาณการขายโดยเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (Compound Annual Growth Rate: CAGR) ในช่วง 5 ปี ที่ประมาณร้อยละ 6 ดังนี้ ในปี 64 ตั้งเป้าปริมาณปิโตรเลียม 375,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ปี 65 ตั้งเป้าไว้ที่ 436,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ปี 66 ตั้งเป้าไว้ที่ 446,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ปี 67 ตั้งเป้าไว้ที่ 466,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน และในปี 68 ตั้งเป้าไว้ที่ 462,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน

“ปี 64 ยังคงเป็นปีที่ท้าทายสำหรับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีผลโดยตรงต่อความต้องการใช้พลังงานและราคาน้ำมัน ที่ผ่านมา ปตท.สผ. มีการปรับตัวทั้งในส่วนของโครงสร้างองค์กรและการดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดต้นทุนโดยรวม เพื่อให้บริษัทมีความแข็งแกร่งพร้อมรับกับความผันผวน โดยในปีนี้เราได้ทบทวนแผนการลงทุน 5 ปีภายใต้กลยุทธ์ Execute and Expand ซึ่งจะส่งผลให้เรามีการผลิตที่สามารถตอบสนองความต้องการพลังงานของประเทศและยังเติบโตได้ และด้วยโครงสร้างการเงินที่แข็งแกร่ง ประกอบกับกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในแต่ละปี จะสามารถรองรับแผนการลงทุนดังกล่าว รวมทั้ง โอกาสทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตแม้ในสถานการณ์ราคาน้ำมันตกต่ำ” นายพงศธร กล่าว

นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนไป โดยศึกษาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ เช่น โครงการ Gas to Power ในประเทศเมียนมา เพื่อต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแหล่งก๊าซธรรมชาติที่บริษัทมีการดำเนินการอยู่แล้ว, การขยายธุรกิจของบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) รวมทั้ง การแสวงหาโอกาสการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนอีกด้วย