“ประยุทธ์”สั่งคมนาคมเร่งเคลียร์ปมทีโออาร์รถไฟฟ้าสายสีส้ม

ผู้ชมทั้งหมด 799 

“ประยุทธ์” รับเป็นห่วงกรณีปรับทีโออาร์อาจทำให้โครงการสายสีส้มล่าช้า สั่งคมนาคมเร่งเคลียร์ปัญหา ด้านบีทีเอสเผยศาลปกครองนัดไต่สวน 14 ต.ค.นี้ ลุ้นตัดสินคุ้มครองฉุกเฉินทันยื่นซอง 9 พ.ย.63 ขณะที่รฟม.พร้อมแจงทุกประเด็น ย้ำไม่มีข้อกำหนดประสบการณ์เจาะอุโมงค์รถไฟฟ้า เอื้อประโยชน์เอกชนบางราย ชี้การปรับเงื่อนไขหวังเปิดโอกาสผู้รับเหมารายเล็กที่มีประสบการณ์ประมูลได้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการรื้อเงื่อนไขเอกสารประกวดราคา (TOR) โครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่มีการควบรวมข้อเสนอทางด้านเทคนิคและราคามาเป็นเกณฑ์ให้คะแนนในการพิจารณาและไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เรื่องดังกล่าวได้ให้กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูอยู่ เพราะเป็นเรื่องของหน่วยงานเจ้าของเรื่องที่รัฐบาลมอบหมายให้ไปดำเนินการ ส่วนกรณีที่การปรับทีโออาร์อาจทำให้โครงการล่าช้า เรื่องนี้รัฐบาลก็มีความเป็นห่วงอยู่แล้ว ขอให้หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้พิจารณาดำเนินการ

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS กล่าวว่า ภายหลังจากบีทีเอสได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอคุ้มครองฉุกเฉิน เกี่ยวกับการปรับเกณฑ์พิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอตามที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ปรับเกณฑ์ TOR โครงการจัดหาเอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ใหม่หลังจากเปิดขายซองไปแล้วนั้น ล่าสุดศาลปกครองมีคำสั่งนัดไต่สวนนัดแรกในวันที่ 14 ต.ค.นี้

“การนัดไต่สวนครั้งนี้ น่าจะต้องไปชี้แจงกันทั้งสองฝ่าย คือทางบีทีเอสและ รฟม. โดยเรายืนยันว่าการเปลี่ยนเกณฑ์หลังขายซองไปแล้ว และจะนำซองด้านเทคนิคมาคำนวณคะแนนด้วย เป็นเกณฑ์ที่ไม่เคยใช้มาก่อน ตั้งแต่มี พรบ.ร่วมทุน แม้จะมีใช้ก็ไม่เคยมีใช้ในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และการปรับเกณฑ์ในลักษณะแบบนี้ จะทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ” นายสุรพงษ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี บีทีเอสยืนยันว่าข้อกำหนดในเอกสารข้อเสนอ (Request for Proposal: RFP) รฟม.ได้กำหนดซองด้านเทคนิคไว้เป็นกรอบกว้างๆ จำนวน 5 ข้อ โดยกำหนดส่วนสำคัญคือผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีคุณสมบัติมีประสบการณ์ขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้ารัศมีไม่ต่ำกว่า 5 เมตร รวมทั้งยังมีหมายเหตุระบุด้วยว่า ผลงานและประสบการณ์ในไทย จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ ซึ่งหาก รฟม.ใช้หลักเกณฑ์เดิม คือผ่านและไม่ผ่าน ก็จะไม่เกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบ แต่หากมีการกำหนดคะแนน บีทีเอสก็เกรงว่าจะเกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบ

ทั้งนี้จากการประเมินขั้นตอนของศาลปกครองแล้ว ในกรณีที่ผ่านมาทราบว่าภายหลังศาลนัดไต่สวนครั้งแรก จะใช้เวลาราว 1-2 สัปดาห์ จึงจะทราบผลการพิจารณาของศาล ดังนั้นเบื้องต้น บีทีเอสคาดการณ์ว่าจะทราบผลพิจารณาของศาลในประเด็นดังกล่าว โดยจะทราบว่าศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉินหรือไม่ ทัน 9 พ.ย. 63 ซึ่งเป็นกรอบกำหนดที่ รฟม.จะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ อย่างไรก็ดี บีทีเอสยังมีเป้าหมายที่จะร่วมประมูลโครงการนี้ เพื่อแข่งขันให้เกิดความเป็นธรรม

ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งจากศาลปกครองให้ชะลอ หรือยุติการประมูลโครงการการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ดังนั้น รฟม. ยังคงเดินหน้าตามกระบวนการตามปกติ โดยจะเปิดให้ผู้ซื้อซองได้ยื่นข้อเสนอในวันที่ 9 พ.ย.นี้ อย่างไรก็ตามเวลานี้ศาลยังไม่ได้นัดไต่สวนมา แต่ได้รับหนังสือคำฟ้องแล้ว และจากการพิจารณาก็พบว่าไม่มีเรื่องใดที่น่ากังวล มั่นใจว่าสามารถชี้แจงได้ทุกเรื่อง และยืนยันว่าได้ทำตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ขณะเดียวกันใน RFP ข้อ 17.1 ก็ได้ระบุไว้ว่าสามารถออกเอกสารเพิ่มเติมที่จะปรับเปลี่ยนได้

ทั้งนี้จากการพิจารณารายชื่อบริษัทที่มาซื้อซองเอกสาร อาทิ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)และ ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด เป็นต้น ทุกบริษัทล้วนมีประสบการณ์ในการก่อสร้างอุโมงค์ นอกจากนี้ รฟม. ยังเปิดกว้างให้สามารถว่าจ้างผู้รับเหมาช่วง (ซับคอนแทรค) เข้ามาดำเนินการได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ซื้อซองเท่านั้น ซึ่งประเทศไทยก็ยังมีอีกหลายบริษัทที่มีประสบการณ์งานอุโมงค์ขนาดใหญ่ อาทิ บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน)

พร้อมกันนี้ที่ผ่านมารฟม. ไม่เคยกำหนดเงื่อนไขว่างานโยธาหากได้บริษัทผู้รับเหมาไทยจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ และไม่ได้กำหนดด้วยว่าจะต้องมีประสบการณ์งานอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งยืนยันว่าเทคนิคการก่อสร้างอุโมงค์ทุกรูปแบบใช้เทคนิคเดียวกัน เพียงแต่งานอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาจะละเอียดอ่อนกว่า ซึ่งในการยื่นซองเทคนิค ผู้ซื้อซองก็ต้องอธิบายให้ได้ว่าจะใช้เทคนิคการขุดเจาะในพื้นที่ละเอียดอ่อนอย่างไร รวมถึงจะใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดที่มีประสิทธิภาพ และจะมีมาตรการความปลอดภัยอย่างไรในพื้นที่ละเอียดอ่อนที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะงานก่อสร้างสายสีส้มเป็นงานใต้ดินมากกว่า 2 ใน 3 ของเส้นทางตลอดสาย อีกทั้งยังเป็นพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ และอาคารอนุรักษ์เก่าด้วย