“พลังงาน”สั่งพพ.รื้อรูปแบบและอัตรารับซื้อไฟพลังงานหมุนเวียน

ผู้ชมทั้งหมด 1,420 

“พลังงาน” ยันเดินหน้ารับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในปีนี้ ตามแผน PDP 2018 Rev.1 และ AEDP สั่ง พพ.เร่งปรับรูปแบบ และอัตรารับซื้อไฟฟ้าใหม่ คาดครึ่งปีหลังชัดเจน ขณะที่ โครงการโรงไฟฟ้าขยะ และโรงไฟฟ้าขยายผล อยู่ในแผนอันดับแรก หวังเร่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน ยังมีนโยบายเดินหน้ารับซื้อไฟฟ้าตามแผนรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ปี2564 ที่ยึดกรอบดำเนินการภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (​PDP 2018 Revision 1) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561–2580 (AEDP 2018) โดยจะดำเนินการคู่ขนาดไปกับการจัดทำร่างแผนพลังงานแห่งชาติ(National Energy Plan)

แต่ขณะนี้แผนการรับซื้อพลังงานหมุนเวียน ปี2564 ยังมีประเด็นเรื่องของอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งทางกระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ไปพิจารณาอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสม เพื่อนำกลับมาเสนอกระทรวงพลังงานพิจารณาอีกครั้ง

“แผนรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนนั้น ทาง สนพ.ได้จัดทำนโยบายเสร็จแล้ว และได้นำเสนอรัฐมนตรีฯ แล้ว แต่ยังมีประเด็นที่ไม่เห็นด้วยและสั่งให้กลับไปทำการบ้านอยู่ ทั้ง รูปแบบการรับซื้อไฟฟ้า และราคารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสม คาดว่า จะมีความชัดเจนในช่วงครึ่งหลังปีนี้”

ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องพิจารณาในรายละเอียดเพิ่มเติมนั้น ในส่วนของรูปแบบการรับซื้อไฟฟ้า ทาง พพ.ต้องไปดูว่า จะใช้วิธีการใด ถึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้ง การจับสลาก การเปิดประมูลแข่งขัน เป็นต้น และหากเลือกใช้วิธีการประมูลแข่งขัน ก็อาจจะต้องไม่ทำให้ราคารับซื้อไฟฟ้าอยู่ในระดับที่ต่ำเกินไป

รวมถึงในส่วนของอัตรารับซื้อไฟฟ้า ก็ต้องไปดูว่าจะปรับอัตราการให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (Feed-in-Tariff) หรือ FiT ในแต่ละประเภทเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้อย่างไร ซึ่งก็ต้องมองทั้งในแง่ของผู้ลงทุน ว่าจะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้หรือไม่ และต้องเอื้อให้เกิดการดึงดูดการลงทุน ด้วย แต่ค่าไฟฟ้าก็ต้องไม่แพงจนเป็นภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้าโดยรวม ซึ่งจะต้องจัดทำในหลายสมมติฐานเพื่อนำมาเสนอก็กระทรวงฯ พิจารณารายละเอียดต่อไป

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ปี2564 ที่น่าจะดำเนินการได้ก่อนในช่วงครึ่งปีหลังนี้ คือ โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ที่กำหนดกรอบรับซื้อไฟฟ้าใหม่ 400 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าขยายผล (เชื้อเพลิงชีวมวล,ชีวภาพ) ที่เบื้องต้นกำหนดกรอบรับซื้อไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์ เนื่องจากจะเป็นโครงการที่มีส่วนสำคัญต่อการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และยังลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ขนาด 290 เมกะวัตต์(เฉลี่ยปีละ 90 เมกะวัตต์) ก็ยังอยู่ในแผนฯ และโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐของ ศอ.บต.ขนาด 120 เมกะวัตต์(เฉลี่ยปีละ 60 เมกะวัตต์) เรื่องนี้ ยังต้องรอคณะทำงานร่วมฯ พิจารณาก่อน ซึ่งยังรอทาง ศอ.บต. ส่งแผนความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการมายังกระทรวงพลังงานก่อน จากนั้นถึงจะพิจารณาความพร้อมของนักลงทุน โดยหากขั้นตอนต่างๆมีความพร้อม ก็คาดว่าจะนำไปสู่การเดินหน้าโครงการได้ แต่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอรายละเอียดต่างๆ

อย่างไรก็ตาม การปรับรูปแบบการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนต่างๆ เช่น โรงไฟฟ้าขยายผล ทาง พพ.ก็ได้หารือร่วมกับภาคธุรกิจและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เพื่อนำเสนอนโยบายของกระทรวงฯ และรับฟังข้อเสนอแนะของภาคเอกชน ก่อนออกเป็นนโยบายที่ชัดเจนต่อไป เพราะหากภาครัฐดำเนินการฝ่ายเดียวสุดท้ายภาคเอกชนไม่เห็นด้วย ก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้

ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ทาง พพ.ก็ได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งก็ต้องหารือกับว่า อัตรารับซื้อไฟฟ้า FiT ปัจจุบันอยู่ในระดับที่สูงไป หากปรับลดราคาลง จะเอื้อให้เกิดการลงทุนหรือไม่ เพราะในอนาคตการผลิตไฟฟ้าจะมุ่งไปที่เรื่องของพลังงานสะอาด หรือ พลังงานสีเขียวมากขึ้น หากราคาพลังงานหมุนเวียนแข่งขันได้กับเชื้อเพลิงซอสซิล ซึ่งในปัจจุบันพลังงานโซลาร์และลม สามารถแข่งขันได้อยู่แล้ว แต่ขยะ กับ ชีวมวล ก็ควรจะต้องปรับให้เกิดการแข่งขันด้วย เนื่องจากขณะนี้ราคายังสูงอยูแม้ว่าจะไม่ได้สูงจนเกินไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปรับให้ราคาถูกจนเกินไป