รฟท.เร่งเคาะรูปแบบ PPP ประมูลรถไฟสายสีแดง 6 โครงการ 1.88 แสนล้าน

ผู้ชมทั้งหมด 643 

รฟท. มัดรวมประมูลระบบเดินรถ-ก่อสร้างโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง 6 โครงการ วงเงินลงทุน 1.88 แสนล้านบาท ศึกษาลงทุน PPP 3 รูปแบบ คาดประมูลมิ.ย. 65 ได้ผู้ชนะปี 66

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เตรียมจัดทำแผนดำเนินการจัดประกวดราคาก่อสร้างและระบบเดินรถโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) จำนวน 6 โครงการ ในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership หรือ PPP) โดยล่าสุด รฟท.ได้ดำเนินการจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 64

นายคณพศ วชิรกำธร  ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ รถไฟชานเมืองสายสีแดง รฟท. กล่าวภายหลังเป็นประธานการสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน ว่า โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ต้องดำเนินการประกวดราคาส่วนต่อขยายอีก 4 โครงการ ประกอบด้วย 1.ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง หรือ Missing Link ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 4.96 หมื่นล้านบาท

2.ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6.64 พันล้านบาท 3.ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และก่อสร้างสถานีเพิ่มเติม ประกอบด้วย สถานีพระราม 6 สถานีบางกรวย-การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และสถานีบ้านฉิมพลี ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 1.06 หมื่นล้านบาท และ 4.ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4.73 พันล้านบาท

ส่วนโครงการที่เปิดให้บริการเดินรถในขณะนี้ คือ 1.ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.30 กิโลเมตร (กม.) และ 2.ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15.3 กม. วงเงิน 1.08 แสนล้านบาท โดยเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรี ตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค. 64 ซึ่งหากนับรวมโครงการส่วนต่อขยายที่กล่าวมาข้างต้นก็จะรวมเป็น 6 โครงการ ดังนั้นการเปิดประกวดราคาในส่วนต่อขยายจะเป็นรูปแบบ PPP เอกชนผู้ชนะการประกวดราคาจะได้สัมปทานบริหารจัดการเดิน 50 ปี ทั้ง 6 โครงการ

สำหรับแผนการดำเนินโครงการ คาดว่าจะสามารถเปิดประกวดราคาสรรหาเอกชนเพื่อเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP ได้ในเดือน มิ.ย. 65 และได้ผู้ชนะการประมูลประมาณเดือน มิ.ย.66 จากนั้นจะเริ่มการก่อสร้าง โดยช่วง รังสิต-มธ.ศูนย์รังสิต, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช จะเริ่มก่อสร้างในเดือน ส.ค. 66- ก.ค. 69 และเปิดให้บริการปี 69 ส่วนช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ –หัวลำโพง จะเริ่มก่อสร้างเดือน ส.ค. 66-ม.ค.71 และเปิดให้บริการปี 71

นายจเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน รฟท. กล่าวว่า โครงการได้ดำเนินการศึกษา ทบทวน วิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจและการเงิน โดยผลการวิเคราะห์แสดงสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมระหว่างรัฐและเอกชน ดังนี้ (1.) ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน สัดส่วนการลงทุนรัฐ 100 %  (2.) ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัดส่วนการลงทุนรัฐ 100 %  (3.) ช่วงบางซื่อ-พญาไท-หัวหมาก สัดส่วนการลงทุนรัฐคิดเป็น 90.36 %  และสัดส่วนการลงทุนเอกชนคิดเป็น 9.64%

(4.) ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต สัดส่วนการลงทุนรัฐ คิดเป็น 90.36 %  และสัดส่วนการลงทุนเอกชนคิดเป็น 9.64% (5.)ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา สัดส่วนการลงทุนรัฐ คิดเป็น 90.36 %  และสัดส่วนการลงทุนเอกชนคิดเป็น 9.64% (6.)ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช สัดส่วนการลงทุนรัฐ คิดเป็น 90.36 %  และสัดส่วนการลงทุนเอกชนคิดเป็น 9.64%

โดยพิจารณาระยะเวลาร่วมลงทุนที่ 50 ปี โครงการฯ มีผลตอบแทนทางการเงินในภาพรวมทั้ง 6 โครงการ ดังนี้ ผลตอบแทนโครงการ -0.54% FIRR (%)  คิดเป็นมูลค่า -159,154.49 NPV (ล้านบาท)  คิดเป็น 0.44 B/C Ratio สำหรับรูปแบบการลงทุนที่แบ่งสัดส่วนการลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนดังที่กล่าวไปข้างต้น มีผลตอบแทนทางการเงิน ดังนี้ ผลตอบแทนโครงการ 8.62 IRR (%)  คิดเป็นมูลค่า 9,670.51 NPV (ล้านบาท) คิดเป็น 1.08 B/C Ratio

นอกจากนี้ โครงการจะดำเนินการวิเคราะห์และศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนและเอกชนที่เหมาะสมในการดำเนินงานโครงการ เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินงาน โดยมีรูปแบบให้ผลตอบแทนแก่เอกชน แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ  1. Net Cost  2. Gross Cost  3. Modified Gross Cost

ทั้งนี้ กระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ จะใช้ระยะเวลาประมาณ 14 เดือน โดยมีขั้นตอนในการ ดำเนินการ ดังนี้ 1. การประกาศเชิญชวนและขายซองเอกสารประกอบข้อเสนอ 2. เอกชนจัดเตรียมเอกสารและยื่นข้อเสนอ 3. ประเมินข้อเสนอของเอกชนและการเจรจาต่อรอง และ 4. การขออนุมัติร่างสัญญาร่วมลงทุนและผลการคัดเลือก ซึ่งโครงการดังกล่าว จัดเป็นการลงทุนเพื่อวางรากฐานความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยในระยะยาว โดยหวังให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงข่ายระบบรางได้เต็มประสิทธิภาพ