รฟม.ยันประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มทำตามกฎระเบียบมติครม.

ผู้ชมทั้งหมด 586 

รฟม.ยืนยันการดำเนินงานประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ดำเนินงานทุกขั้นตอนเป็นไปโดยละเอียดตามกฎหมาย กฎระเบียบมติครม.

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ชี้แจงรายละเอียดถึงความคืบหน้าการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า รฟม. ได้ออกประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ตามประกาศดังกล่าว โดยติดประกาศ ณ ที่ทำการ รฟม. และเผยแพร่ทางหน้าเว็บไซต์ www.mrta.co.th เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564

หลังจากนั้นรฟม. ได้ยื่นคำร้องชี้แจงข้อเท็จจริงและขอให้จำหน่ายคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ต่อศาลปกครองกลาง และศาลปกครองกลางได้มีคำสั่ง ฉบับลงวันที่ 5 มีนาคม 2564 จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้เหตุผลว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีตามคำขอที่ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งพิพาทหมดสิ้นไป ไม่มีเหตุที่จะให้ศาลต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพื่อออกคำบังคับตามมาตรา72 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ต่อไปอีก

และศาลยังได้มีคำสั่งให้ คำสั่งศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ที่ให้ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 สิ้นผลบังคับลงไปด้วยและเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลางดังกล่าว ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 ศาลปกครองกลางได้นัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2564 โดยศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีบางข้อหา

คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 เห็นชอบการนำแนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างหรือการร่วมลงทุนภายใต้กฎหมายอื่น นอกเหนือจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ไปกำหนดใช้โดยอนุโลม ดังนั้นเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ปราศจากข้อครหาในการดำเนินงาน รฟม. จึงได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เสนอคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริตเพื่อพิจารณาบรรจุโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ให้จัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact)

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)