รฟม.ลั่นเดินหน้าเริ่มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกใหม่

ผู้ชมทั้งหมด 581 

รฟม. เดินหน้าเริ่มประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ขายซองเดือน ต.ค.นี้ หลังศาลปกครองสูงสุดจำหน่ายคดีบางข้อหาที่ BTS ฟ้อง ยันในบางข้อหาที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฯ ไม่มีผลต่อการประมูลใหม่

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินคดีเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 ศาลปกครองกลางได้นัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2564 โดยศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีบางข้อหาที่บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ยื่นฟ้อง

ส่วนในคดีบางข้อหาที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด เช่น ข้อหาที่ BTS เรียกร้องค่าเสียหาย 500,000 บาท และข้อหายกเลิกการประกวดราคาโดยมิชอบที่เหลืออยู่นั้นจะไม่มีผลต่อการคัดเลือกเอกชนรอบใหม่อย่างแน่นอน ซึ่งทางรฟม.จะเร่งดำเนินการประกวดราคาเพื่อคัดเลือกเอกชนใหม่

นอกจากนี้แล้วผู้ว่ารฟม.ยังยืนยันว่าวิธีการประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุนจะยังให้เป็นรูปแบบการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคควบคู่กับด้านราคา โดยใช้เกณฑ์พิจารณารวมคะแนนข้อเสนอซองที่ 2 ด้านเทคนิค (สัดส่วน 30 คะแนน) และข้อเสนอซองที่ 3 ด้านราคา (สัดส่วน 70 คะแนน) พร้อมยืนยันว่ารฟม.ดำเนินทุกขั้นตอนตามกฎหมาย และตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)

สำหรับขั้นตอนการเริ่มประกวดราคาใหม่นั้นค่าดว่ารฟม.จะสามารถเสนอแผนประกาศเชิญชวนการประกวดราคา เอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) ให้กับคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 พิจารณาได้ในช่วงกลางเดือนกันยายนนี้ จากนั้นจะเริ่มเปิดขายซองเอกสารรายละเอียดเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) ได้ในช่วงเดือนตุลาคม 2564 และกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอได้ในช่วงเดือนมกราคม 2565

โดยรฟม.จะใช้ระยะเวลาในการเจรจาข้อเสนอของเอกชนประมาณ 3 เดือน หลังจากนั้นก็คาดว่าจะเสนอให้ครม. พิจารณาอนุมัติผลการคัดเลือกในเดือนเมษายน 2565 ซึ่งหากเป็นไปตามแผนก็จะส่งผลให้การดำเนินการก่อสร้างเป็นไปตามแผนด้วย

โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) มีความก้าวหน้างานโยธา 84.44% (ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2564) จะพร้อมเปิดให้บริการเดินรถในปี 2568 และสายสีส้มตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) คาดดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2569 ซึ่งจะกลายเป็นอีกหนึ่งโครงข่ายสำคัญที่เชื่อมต่อกรุงเทพมหานครในแนวฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก เมื่อเปิดให้บริการได้ตามแผนไตรมาส 3/2570

อนึ่งส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุน 96,012 ล้านบาท และจัดหารถไฟฟ้ารวมทั้งการให้บริการเดินรถไฟฟ้าตลอดเส้นทาง ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตรกรอบวงเงินลงทุน 32,116 ล้านบาทรวมวงเงินทั้งหมด 128,128 ล้านบาท