รฟม.แจงค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้มยึด15-45บาท

ผู้ชมทั้งหมด 883 

รฟม. ชี้แจงข้อเท็จจริง การกำหนดอัตราค่าโดยสาร โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มยึดราคา 15 -45 บาทเจรจาเอกชน จากราคาผลศึกษา 17-62 บาท ไม่แพงตามที่เป็นข่าว คาดมี.ค.นี้ได้ข้อสรุปเอกชนผู้ให้บริการเดินรถ พร้อมเปิดให้บริการได้ตามแผนปี 67-69

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวถึงกรณีมีข่าว เผยแพร่บนสื่อสาธารณะหลายแห่งเรื่องอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่มีอัตราค่าโดยสารที่สูงใกล้เคียงกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า เป็นการนำเอาข้อมูลอัตราค่าโดยสารที่ใช้ในการจัดทำรายงานการศึกษาวิเคราะห์โครงการฯ (รายงาน PPP) ของ รฟม. ที่มีสมมติฐานกำหนดเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มในปี พ.ศ. 2566 – 2567 ซึ่งคำนวณตามมาตรฐาน MRT Assessment Standardization ก็จะพบว่ามีระดับอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 17 บาทคิดค่าโดยสารตามระยะทาง 3 – 4 บาท/สถานี โดยมีอัตราค่าโดยสารสูงสุด 62 บาท เมื่อผู้โดยสารเดินทางตั้งแต่ 12 สถานี

อย่างไรก็ตามเมื่อคัดเลือกเอกชนมาเป็นผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าได้แล้ว รฟม. ก็จะดำเนินการจรจากับเอกชนผู้ผ่านการประเมินสูงสุดในการปรับลดอัตราค่าโดยสารให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับค่าครองชีพ และประชาชนยอมรับได้ (Willingness to pay) ทั้งนี้ รฟม. คาดการณ์อัตราค่าโดยสารเมื่อเปิดให้บริการโครงการสายสีส้มส่วนตะวันออก ในปี พ.ศ. 2567 โดยใช้สมมติฐานที่ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ต่อปีจะมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นอยู่ที่ 15 บาท และมีอัตราค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 45 บาท

โดยเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีชมพู และสายสีเหลือง ที่อ้างอิงตามมาตรฐาน MRT Assessment Standardization ปรับอัตราโดยอ้างอิงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI Non-food & beverages) ตามที่เกิดขึ้นจริง และเก็บค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวเมื่อผู้โดยสารเดินทางข้ามสายในโครงข่ายรถไฟฟ้าของ รฟม. ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่มีเจตนารมณ์ให้โครงการรถไฟฟ้าของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม มีอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมและช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน

นอกจากนี้กิจการรถไฟฟ้าไม่ใช่กิจการที่ภาครัฐลงทุนโดยโครงการต้องมีความคุ้มทุน หรือเป็นกิจการที่ภาครัฐมุ่งทำกำไรเป็นหลัก จึงสมควรที่จะพิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารอย่างรอบคอบ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน และส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งมวลชนแทนการใช้รถส่วนตัว ซึ่งนอกจากจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดแล้ว ยังจะสามารถช่วยลดปัญหามลภาวะฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่หนาแน่นในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในปัจจุบันได้ด้วย

ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี นั้นอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดในเรื่องเงื่อนไขการประกวดราคาโดยคาดว่าขบวนการพิจารณาของศาลตลอดจนการคัดเลือกผู้ชนะการประกวดราคาจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2564 และจะรีบเร่งดำเนินการต่อรองราคาทันทีเพื่อให้การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเปิดเดินรถได้ตามแผน โดยในระยะแรกสายตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี – สุวินทวงศ์ เปิดเดินรถปี 67 ส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) เปิดเดินรถปี 69