ราคาน้ำมันดิบทรงตัวกลุ่มโอเปกพลัสส่งสัญญาณไม่ปรับเพิ่มกำลังการผลิต

ผู้ชมทั้งหมด 658 

ไทยออยล์ประเมินราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวหลังจากสถานการณ์โควิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มมีทิศทางดีขึ้น กลุ่มโอเปกพลัสส่งสัญญาณไม่ปรับเพิ่มกำลังการผลิตตามคำเรียกร้องของ “โจ ไบเดน”

ผู้สื่อข่าวราย ว่า บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ประเมินราคาน้ำมันดิบตลาดในสัปดาห์นี้ (23 – 27 ส.ค. 64) ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว จากสถานการณ์โควิด-19 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศเริ่มมีทิศทางดีขึ้น ท่ามกลางอุปทานที่เพิ่มมากขึ้นจากสหรัฐฯ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 60-66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 63-69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถารณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้มาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มมีทิศทางดีขึ้น หลังจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันในประเทศอินโดนีเซียล่าสุดวันที่ 17 ส.ค. 64 ปรับลดลงมากว่า 50% ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือน จากจุดพีคในเดือน ก.ค. 64 ขณะที่

รัฐบาลมาเลเซียได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการทางสังคมตามแผนฟื้นฟูแห่งชาติ (National Recovery Plan) เฟสที่ 1 และ 2 จากทั้งหมด 4 เฟสแล้วใน 13 รัฐรวมถึงเมืองหลวงกัวลาลัมเปอร์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ติดเชื้อในเวียดนามยังคงเพิ่มสูงขึ้นกว่า 9,000 รายต่อวันส่งผลให้มีการขยายระเวลาการล็อคดาวน์ในฮานอย และ โฮ จี มิน ต่อไปอีกอย่างน้อยถึงวันที่ 22 ส.ค. 64 ยังคงกดดันปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน

สถาบันโกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในช่วงเดือน ส.ค-ก.ย.64 จะยังคงถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าส่งผลให้ตลาดน้ำมันดิบอยู่ในสภาวะขาดดุล (deficit) ลดลงจากการคาดการณ์ก่อนหน้าที่ระดับ 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปอยู่ที่ระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม โกลแมนด์แซคคาดว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงปลายปีเนื่องจากความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก

ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในประเทศจีนมีแนวโน้มปรับลด จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจจีนชะลอตัวหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่กำลังระบาดในประเทศ ส่งผลให้ตัวเลขผลผลิตจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศเดือน ก.ค. 64 เติบโตเพียง 6.4% ต่ำกว่าที่คาดจะสามารถเติบโตได้ 7.8% ขณะที่ดัชนียอดค้าปลีกเติบโต 8.5% เติบโตได้น้อยกว่าการเติบโตในเดือน มิ.ย. 64 ที่สามารถเติบโตได้ 12.1% นอกจากนี้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตจีนเดือน ก.ค.64 ปรับลดลงต่อเนื่องสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือนที่ระดับ 50.4 สะท้อนถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง

อุปทานจากสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันมันดิบสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 13 ส.ค. 64 ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 1 แสนบาร์เรลต่อวันอยู่ที่ระดับ 11.4 ล้านบาร์เรลต่อวันนอกจากนี้ EIA คาดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหิน (Shale Production) ของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดมากกว่า 1 ปี ในเดือน ก.ย. 64 ที่ระดับราว 8.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดบริษัทเบเกอร์ ฮิวจ์ รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 13 ส.ค. 64 ปรับเพิ่มขึ้น 10 แท่นไปอยู่ที่ระดับ 397 แท่น ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน เม.ย. 64

อย่างไรก็ตาม กลุ่มโอเปกพลัสส่งสัญญาณไม่ปรับเพิ่มกำลังการผลิตตามคำเรียกร้องของนายโจ ไบเดนประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ขอให้ทางกลุ่มกลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) พิจารณาทบทวนเพิ่มกำลังการผลิต โดยโอเปกพลัสมีแนวโน้มคงมติตามแผนเดิมที่จะเพิ่มกำลังการผลิต 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ตามที่ตกลงไว้ในการประชุมครั้งล่าสุดในเดือน ก.ค.64 โดยทางกลุ่มยังคงเชื่อว่ากำลังการผลิตตามแผนเดิมจะสมดุลต่อความต้องการใช้ในตลาดซึ่งสอดคล้องกับคาดการณ์ขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA)

เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีดีพีสหรัฐฯ ไตรมาส 2/64 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตสหรัฐฯ เดือน ส.ค.64 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตยูโรโซนและสหราชอาณาจักรเดือน ส.ค.64 และรายงานจำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ