ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ทรงตัวระดับสูง หลังปริมาณส่งออกของรัสเซียลดลง

ผู้ชมทั้งหมด 1,417 

ไทยออยล์ ชี้สัปดาห์ ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวระดับสูง เหตุตลาดกังวลอุปทานน้ำมันโลกตึงตัว ขณะที่การแพร่ระบาดในจีนยังคงกดดันตลาด คาด เวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 100-110 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 105-115 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 25 – 29 เม.ย. 65 พบว่า ราคาน้ำมันดิบยังคงมีแนวโน้มทรงตัวได้ในระดับสูง หลังปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียปรับลดลงมากสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 63 เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรของนานาชาติ ขณะที่การผลิตน้ำมันดิบของลิเบียปรับลดลงมากกว่า 0.55 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังประกาศภาวะฉุกเฉินและหยุดดำเนินการผลิตและการส่งออกน้ำมัน ส่งผลกระทบให้ภาวะอุปทานน้ำมันโลกตึงตัวเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของจีนยังคงกดดันตลาด ขณะที่จีนยังคงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจ และความกังวลของภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลัง IMF ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2565 และ 2566 สู่ระดับ 3.6% เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซียยูเครนและอัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

  • ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 15 เม.ย. 65 ปรับลดลงกว่า 25% หรือ 3.12 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 21.8 ล้านบาร์เรล ทำให้รายได้ของรัสเซียหายไปกว่า 60 ล้านดอลลาห์สหรัฐฯ ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียปรับลดลงมากสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 63 สู่ระดับ 10.02 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน มี.ค. 65 ด้าน IEA รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียมีแนวโน้มปรับลดลงกว่า 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน เม.ย. 65 และ 3.0 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน พ.ค.65 เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรของนานาชาติ และผู้ซื้อรายอื่นๆ หลีกเลี่ยงผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว
  • ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียมีแนวโน้มปรับลดลงมากกว่า 0.55 ล้านบาร์เรลต่อวันสำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 22 เม.ย. 65 หลังบริษัทน้ำมันแห่งชาติลิเบีย (NOC) ประกาศหยุดส่งมอบและส่งออกน้ำมันดิบจากแหล่ง  Al-Shahara (0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และท่าส่งออก Zueitina Terminal (0.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ตามลำดับ หลังเกิดเหตุประท้วงจากความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้รัฐบาลต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน คาดหากสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวยังไม่มีคลี่คลาย ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบอาจตึงตัวเพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง
  • ปริมาณสต็อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 15 เม.ย. 65 ปรับตัวลดลงกว่า 8.0 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 413.7 ล้านบาร์เรล หลังสหรัฐฯ ส่งออกน้ำมันสูงสุดในรอบ 2 ปี ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดย EIA รายงานคาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปี 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.84 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 12.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อหวังช่วยลดภาวะอุปทานน้ำมันที่ตึงตัว
  • สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงกดดันตลาด หลังจากจีนพบผู้ติดเชื้อในเมือง Tangshan และ Zhengzhou ซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางเขตเศรษฐกิจของจีน ทำให้จีนประกาศใช้มาตรการเข้มงวดโดยจำกัดการเดินทาง และอาจประกาศล็อกดาวน์หากยังคงพบผู้ติดเชื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่บางเขตในเมืองเซี่ยงไฮ้เริ่มกลับมาเปิดได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ติดเชื้อในบางเขตยังคงสูงกว่า 25,000 ราย ทำให้จีนต้องขยายมาตรการล็อกดาวน์ออกไปอย่างไม่มีกำหนด ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนมีแนวโน้มชะลอตัว และปริมาณการใช้น้ำมันในประเทศมีแนวโน้มปรับลดลงในไตรมาส 2/2565
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2565 และ 2566 สู่ระดับ 3.6% โดยปรับลดลงที่ระดับ 0.8% และ 0.2% ตามลำดับเมื่อเทียบกับที่คาดการณ์ก่อนหน้าเดือน ม.ค. 65 เนื่องจากผลกระทบของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก หลังราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในปีนี้  ตลาดมีความกังวลว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลกอาจเติบโตน้อยกว่าคาด
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การประชุมสภาผู้ว่าการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 24 เม.ย. 65 และสหรัฐฯ ประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 1/2565 ซึ่งตลาดคาดว่ามีแนวโน้มปรับลดลง

ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 100-110 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 105-115 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 18 – 22 เม.ย. 65 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 6.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 102.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 6.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 106.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบ ปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 105.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังตลาดกังวลอุปทานน้ำมันดิบตึงตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียปรับลดลง และปริมาณการผลิตน้ำมันของลิเบียปรับลดเช่นกัน จากความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ อย่างไรก็ตามสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีน ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและปริมาณการใช้น้ำมันในประเทศซบเซาลง