ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ ยังถูกกดดันจากความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ผู้ชมทั้งหมด 787 

ไทยออยล์ ชี้ ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ ยังถูกกดดันจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในจีน คาด เวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 100-110 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 102-112 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 11-15 ก.ค. 65 พบว่า ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดัน เพราะนักลงทุนมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินนโยบายทางการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น และสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในจีนยังคงกดดันตลาด หลังจีนพบการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในเมืองเซี่ยงไฮ้ ส่งผลให้จีนต้องใช้มาตรการเข้มงวดในการตรวจคัดกรอง

อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลภาวะอุปทานตึงตัว เนื่องจากการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียประสบปัญหาในการส่งออก เนื่องจากปัญหาความไม่สงบภายในประเทศ และกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร (OPEC+) ที่อยู่ในระดับต่ำ ็

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

  • รายงานประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของของธนาคารกลางสหรัฐฯ มีเนื้อหามุ่งเน้นที่จะดำเนินนโยบายทางการเงินที่ตึงตัว ผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและดำเนินมาตรการปรับลดขนาดงบดุลอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักลงทุนวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยและส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในตลาดชะลอตัวลง ขณะเดียวกับการแข็งค่าของสกุลเงินดอลล่าสหรัฐฯ ส่งผลให้นักลงทุนผู้ถือครองเงินสกุลอื่นมีความสนใจในการลงทุนในน้ำมันดิบลด
  • ปธน. โจ ไบเดน จะเดินทางเยือนซาอุฯ ตามคำเชิญของมกุฎราชกุมารบิล ซัลมาน หลายฝ่ายจับตามองว่าการเดินทางเยือนตะวันออกกลางในครั้งนี้ของผู้นำสหรัฐฯ จะมีท่าทีเรียกร้องให้ซาอุฯ และกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร (OPEC+) เดินหน้าปรับเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้นหรือตามข้อตกลงเดิมที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตที่ราว 0.648 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. 65
  • สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ยังคงกดดันตลาด หลังจากจีนพบผู้ติดเชื้อในเมืองเซี่ยงไฮ้ ทำให้จีนต้องกลับมาบังคับใช้มาตรการเข้มงวดในการตรวจคัดกรอง ซึ่งคาดจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการใช้น้ำมันดิบ
  • อุปทานน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังผู้ผลิตในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันอย่างต่อเนื่อง โดย Baker Hughes รายงานปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบสำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิ.ย. ปรับเพิ่มขึ้น 1 แท่นสู่ระดับ 595 แท่น ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 63
  • ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบลิเบียมีแนวโน้มปรับลดลงอยู่ระหว่าง 0.8-0.9 ล้านบาร์เรล หลังบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียประกาศภาวะสุดวิสัยในการส่งออกน้ำมันดิบจากท่าเรือ Es Sidr และ Ras Lanuf หลังเกิดเหตุประท้วงความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ ซึ่งหากสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวยังไม่คลี่คลาย จะส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบอาจตึงตัวเพิ่มขึ้น
  • การเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่านและ 6 ประเทศมหาอำนาจยังคงไม่มีความคืบหน้า ส่งผลให้อุปทานจากอิหร่านมีแนวโน้มกลับมาช้ากว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและราคาผู้ผลิตของสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นและจีดีพีจีนในไตรมาสที่ 2 มีแนวโน้มปรับลดลงเมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 100-110 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 102-112 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 4-8 ก.ค. 65 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 3.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 104.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 4.61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 107.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 104.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังจากได้รับแรงกดดันเนื่องจากความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด – 19 ในจีน อย่างไรก็ตามราคายังได้แรงสนับจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศลิเบียและความไม่แน่นอนในการเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก (OPEC)