ราช กรุ๊ปออกหุ้นกู้สีเขียวครั้งแรกมูลค่า8,000ล้านบาท

ผู้ชมทั้งหมด 681 

ราช กรุ๊ป ออกหุ้นกู้สีเขียวครั้งแรกมูลค่า 8,000 ล้านบาทเดินหน้าขยายการลงทุนโครงการใหญ่ โรงไฟฟ้าพลังงานลมในออสเตรเลีย โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู สายสีเหลือง ชำระคืนหนี้เดิม ลดต้นทุนทางการเงิน

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ออกตราสารหนี้สีเขียว หรือหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ มูลค่ารวม 8,000 ล้านบาท เพื่อการลงทุน ชำระคืนหนี้เดิมและ/หรือเงินทุนบางส่วน หรือทั้งหมดของโครงการใหม่ หรือโครงการเดิมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในออสเตรเลีย และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง

โดยจะจำหน่ายเฉพาะเจาะจงให้กับผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ในวันที่ 4 พ.ย. 63 แบ่งออกเป็น 4 รุ่น (Tranche) อายุเฉลี่ยหุ้นกู้ประมาณ 11 ปี ได้แก่ หุ้นกู้อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 1.32% ต่อปี จำนวน 1,000 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 4 พ.ย. 66 หุ้นกู้อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 1.76% ต่อปี จำนวน 1,500 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 4 พ.ย. 68 หุ้นกู้อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.61% ต่อปีจำนวน 1,500 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 4 พ.ย. 73 และหุ้นกู้อายุ 15 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.94% ต่อปีจำนวน 4,000 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 4 พ.ย. 78  

โดยบริษัทฯ จะชำระคืนเงินต้นหุ้นกู้ทั้งจำนวนในวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้ง ได้จัดอันดับเครดิตองค์กรและเรทติ้งหุ้นกู้ของบริษัทฯ ที่ระดับ “AAA” แนวโน้ม “คงที่” ณ วันที่ 1 ต.ค. 63  อย่างไรก็ตามการออกและจำหน่ายหุ้นกู้สีเขียวครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จของแผนการจัดหาเงินทุนของบริษัทฯ และเป็นการระดมทุนครั้งแรกของบริษัทฯ ในตลาดตราสารหนี้เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตขึ้นตามทิศทางการพัฒนาสังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

สำหรับเงินจำนวนประมาณ 1,400 ล้านบาท จากการระดมทุนครั้งนี้ บริษัทฯ จะนำไปใช้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพู ซึ่งมีกำหนดจะเปิดให้บริการในปี 65 และเงินอีกจำนวนประมาณ 6,600 ล้านบาท จะนำไปใช้ในโครงการพลังงานลมในออสเตรเลีย ซึ่งปัจจุบันมี 2 โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ได้แก่ โครงการยานดิน ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นร้อยละ 70 มีกำลังการผลิต 214.2 เมกะวัตต์ กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายนนี้ และโครงการคอลเล็คเตอร์ กำลังการผลิต 226.8 เมกะวัตต์ กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในไตรมาสแรก ปี 64   

“หุ้นกู้สีเขียวเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนเป้าหมายการลงทุนโครงการพลังงานทดแทนที่ 2,500 เมกะวัตต์ ในปี 68 รวมทั้งโครงการระบบขนส่งที่สะอาด และโครงการคาร์บอนต่ำอื่นๆ ตามแผนยุทธศาสตร์ของบริษัทฯ เติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังสอดคล้องและช่วยตอบสนองแนวทางการจัดการก๊าซเรือนกระจกของบริษัทฯ  ที่สำคัญจะส่งผลให้บริษัทฯ มีต้นทุนทางการเงินในภาพรวมในระดับที่เหมาะสมด้วย” นายกิจจา กล่าว

ทั้งนี้การออกหุ้นกู้สีเขียวครั้งนี้เป็นไปตามกรอบหลักเกณฑ์การระดมทุนเพื่อโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Financing Framework) และได้รับรายงานการรับประกัน (Assurance Report) โดยบริษัท เคพีเอ็มจีภูมิไชย สอบบัญชี จำกัด   ทั้งนี้  บริษัทฯ ได้แต่งตั้งธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ดังกล่าว