“ราช กรุ๊ป” แย้มสนใจชิงโควตาผลิตไฟพลังงานหมุนเวียนล็อตใหม่ 3,660 MW

ผู้ชมทั้งหมด 774 

“ราช กรุ๊ป” ลุ้นรัฐให้เสนอขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ล็อกแรก โครงการโซลาร์ฟาร์ม หลังผ่านเกณฑ์คัดเลือก 420 เมกะวัตต์ แย้มสนใจยื่นเสนอชิงโควตาล็อตใหม่ 3,660 เมกะวัตต์ เล็งโซลาร์ฯและลม ไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าหินกอง เตรียมนำเข้าLNG ล็อตแรก ทดสอบระบบเดือน ก.ย.นี้ ก่อนCOD หน่วยผลิตแรก 700 เมกะวัตต์มี.ค.2567 

หลังจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2566 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แบบ FiT พ.ศ. 2565 – 2573 เพิ่มเติมอีก 3,660 เมกะวัตต์ จากรอบแรกเปิดให้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าจำนวน 5,203 เมกะวัตต์นั้น

นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) RATCH ระบุว่า บริษัทฯ มีความสนใจเข้าร่วมยื่นเสนอโครงการในรอบใหม่ โดยสนใจผลิตไฟฟ้าปรเภทเชื้อเพลิงพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นดิน(โซลาร์ฟาร์ม) และโรงไฟฟ้าพลังงานลม กำลังกาผลิตรวมไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ ซึ่งจะยื่นเสนอในปริมาณที่มากกว่ารอบแรก ที่บริษัท ได้ยื่นเสนอไป520 โครงการ แต่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกประมาณ 420 เมกะวัตต์​ ซึ่งเป็นโซลาร์ฟาร์มทั้งหมด 

โดยบริษัทฯ คาดหวังว่า การยื่นเสนอโครงการในรอบแรกจะได้รับสิทธิ์เข้าดำเนินโครงการ ขณะเดียวกันได้เตรียมความพร้อมรองรับการลงทุนไว้แล้ว ทั้งงบลงทุน คาดว่าจะอยู่ที่ จะอยู่ที่ 20-25 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ รวมถึงมีการจัดเตรียมที่ดินไว้พร้อมแล้วซึ่งเป็นทั้งที่ดินของบริษัทฯเองและพันธมิตรร่วมลงทุน(JV)

“รอบที่สอง เราคาดว่า จะมีเวลาเตรียมตัวเพื่อความพร้อมในการยื่นเสนอโครงการมากกว่ารอบแรก เพราะภาครัฐยังต้องใช้เวลาร่างกติกาต่างๆ ดังนั้นจังะยื่นเสนอโครงการในปริมาณที่มากกว่ารอบแรก เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับบริษัท”

ทั้งนี้การที่บริษัทฯสนใจเข้าร่วมโครงการล็อตใหม่เพราะเป็นการลงทุนในประเทศที่มีฐานการลงทุนอยู่แล้ว และประเทศไทยมีศักยภาพในการติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม เพราะมีแดดดี ส่วนพลังงานลม ก็อยู่ในความสนใจและจะต้องหาพันธมิตรร่วมลงทุนเนื่องจากลมยังมีข้อกำจัดเรื่องพื้นที่ติดตั้งกังหันลม และศักยภาพแรงลมต่ำ อย่างไรก็ตาม แต่ยังต้องรอดูเงื่อนไขกติกาการเปิดรับซื้อไฟฟ้าของคณะกรรมการกำกิจการพลังงาน(กกพ.) ก่อน 

สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหินกอง กำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 71.5% คาดว่าจะแล้วเสร็จตามแผน โดยในเดือน ก.ย. 2566 มีแผนจะนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) มาทดสอบระบบ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางนำเข้า LNG ว่าจะเป็นรูปแบบสัญญาระยะยาว หรือ แบบตลาดจร (Spot) รวมถึงอาจมีการเจรจากับผู้จัดหาและนำเข้า LNG หรือ Shipper ทั้ง ปตท. และกฟผ. และหินกองฯ เพื่อแชร์สัดส่วนการนำเข้าLNG มาป้อนให้กับโรงไฟฟ้าหินกอง 

อย่างไรก็ตาม บริษัท คาดว่าราคา LNG ในปีนี้จะอยู่ที่ระดับเอื้อต่อการนำเข้า และไม่เป็นอุปสรรคต่อการผลิตไฟฟ้า เพราะในช่วงที่เกิดวิกฤตราคาLNG พุ่งไปแตะ 40-50 ดอลลาร์ต่อบีทียู บริษัทยังสามารถเจรจาสัญญาระยะยาว ได้อยู่ที่ประมาณ 10 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ฉะนั้น การนำเข้าLNG ในแต่ละช่วงจะพิจารณาเลือกรูปแบบที่เหมาะสมในช่วงเวลานั้นๆ

ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ตั้งอยู่ จ.ราชบุรี ประกอบด้วยหน่วยผลิตไฟฟ้าจำนวน 2 ชุด  ชุดละ 700 เมกะวัตต์  โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง โดยหน่วยผลิตที่ 1 จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) มี.ค. 2567 และหน่วยที่ 2 จะมีกำหนด COD ม.ค. 2568