ร.ฟ.ท.จัดหาระบบAPMติดหัวรถจักรวงเงิน500ล้าน

ผู้ชมทั้งหมด 1,104 

ร.ฟ.ท.เตรียมทดสอบรถไฟชานเมืองลงระบบอาณัติสัญญาณใหม่ รองรับสถานีกลางบางซื่อ หลังนำร่องติดตั้งระบบป้องกันและควบคุมความปลอดภัยอัตโนมัติแล้วเสร็จ 2 คัน พร้อมทุ่มงบกว่า 500 ล้านบาท ประมูลติดตั้งหัวรถจักรรวม 70 คัน หวังแล้วเสร็จทยอยใช้ปีนี้

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย ว่า ร.ฟ.ท.ได้เร่งปรับเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณเป็นระบบควบคุมรถไฟของยุโรป (European Train Control System: ETCS) ซึ่งเป็นระบบมาตรฐานในการป้องกันและควบคุมความปลอดภัยอัตโนมัติของรถไฟ (ATP) โดยจะติดตั้งบนหัวรถจักร ซึ่งเป็นระบบควบคุมระยะห่างระหว่างขบวนรถให้อยู่ในระยะที่ปลอดภัย กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินจะเบรกอัตโนมัติ เพื่อให้รถไฟชานเมืองของ ร.ฟ.ท.ทั้งหมด สามารถให้บริการรองรับระบบภายในสถานีกลางบางซื่อ

อย่างไรก็ตามในขณะนี้ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างดำเนินการจัดประกวดราคาติดตั้งระบบ ATP กับหัวรถจักรที่มีอยู่ในปัจจุบันอีก 70 คัน วงเงินกว่า 500 ล้านบาท โดยคาดว่าจะใช้เวลาติดตั้งระบบ 2 ปี ทยอยแล้วเสร็จในปี 2564 – 2566 จากที่ปัจจุบันได้นำร่องติดตั้งระบบ ATP กับรถไฟดีเซลเสร็จแล้ว 2 คัน ซึ่งเป็นขบวนรถที่ให้บริการทางไกลในระบบรถไฟทางคู่

ทั้งนี้การติดตั้งระบบ APM นั้นยังเป็นการรองรับการเปิดเดินรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่จะเริ่มทดสอบเดินรถเสมือนจริงในเดือนมีนาคมนี้ ก่อนเปิดให้ประชาชนทดลองใช้รถไฟฟ้าในเดือนกรกฎาคม 2564 จากนั้นกำหนดเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2564

นอกจากนี้การติดตั้งระบบ ATP นั้นเพื่อปรับปรุงรถไฟดีเซลรองรับการใช้สถานีกลางบางซื่อ โดยเบื้องต้นกำหนดแผนติดตั้งระบบดังกล่าว แบ่งเป็น 2 ระยะ รวมจำนวน 177 คัน แบ่งเป็น ระยะที่ 1 จำนวนรวม 120 คัน ประกอบไปด้วย นำรถจักรดีเซลในปัจจุบัน จำนวน 70 คัน มาติดตั้ง ATP เร่งรัดแล้วเสร็จระหว่างปี 2564 – 2566  และทยอยรับมอบหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา พร้อมอะไหล่จำนวน 50 คัน ตามที่ ร.ฟ.ท.ได้ลงนามสัญญาร่วมกับกิจการร่วมค้าเอสเอฟอาร์ (บริษัท ซานโฟโก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท ริเวอร์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด) ให้เป็นผู้จัดหา และจะมีการติดตั้งระบบ ATP มาแล้วเสร็จ รวมวงเงินกว่า 6.5 พันล้านบาท ซึ่งจะทยอยส่งมอบตั้งแต่ปี 2565

ส่วนระยะที่ 2 จะทยอยปรับปรุงหัวรถจักรของ ร.ฟ.ท. เพิ่มเติมอีก 57 ขบวน เนื่องจากปัจจุบันหัวรถจักรดังกล่าวอยู่ระหว่างทยอยปรับปรุงซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ ตามแผนเมื่อมีการปรับปรุงเครื่องยนต์ก็จะติดตั้งระบบ ATP คู่ขนานไปด้วย เพื่อพร้อมต่อการให้บริการ อย่างไรก็ดี จากแผนที่กำหนดในเบื้องต้น ร.ฟ.ท.มั่นใจว่าจะเพียงพอต่อการให้บริการ รองรับการเปลี่ยนแปลงระบบ พัฒนารถไฟไทยสู่มาตรฐานคความปลอดภัยสูงสุด

ทั้งนี้ระบบ ETCS จะช่วยยกระดับความปลอดภัยให้กับการขนส่งระบบบรางในประเทศไทย เนื่องจากระบบดังกล่าวสามารถคำนวณความเร็วสูงสสุดที่ปลอดภัยสำหรับรถไฟแต่ะคัน โดยมีระบบอาณัติสัญญาณเตือนในห้องพนักงานขับรถไฟ และระบบออนบอร์ดที่ทำการบังคับรถไฟหากมีการใช้ความเร็วเกินกว่าอัตราความปลอดภัยกำหนด