ลงนามระบบราง ระบบไฟฟ้ารถไฟความเร็วสูงไทย-จีน5หมื่นล้าน

ผู้ชมทั้งหมด 900 

“คมนาคม” ลงนามสัญญา 2.3 มีวงเงิน 50,633.5 ล้านบาท งานขบวนรถไฟ ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และฝึกอบรมบุคลากร โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ส่วนระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียด ยกระดับไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์อาเซี่ยน

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ของโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาล แห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์แนชันนัล (CHINA RAILWAY INTERNATIONAL CO., LTD.) และ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ ดีไซน์ คอร์เปอเรชัน (CHINA RAILWAY DESIGN CORPORATION)

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา แบ่งการก่อสร้างงานโยธาออกเป็น 14 สัญญา โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค. 60 ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา คือ สัญญา 1-1 ช่วงกลางดง – ปางอโศก อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 1 สัญญา คือสัญญา 2-1 ช่วงสีคิ้ว – กุดจิก และเตรียมลงนามในสัญญาก่อสร้างอีก 9 สัญญา มีกรอบวงเงินรวมของโครงการ 179,412.21 ล้านบาท และผลประกวดราคา 2 สัญญา

ทั้งนี้ยังมีอีก 1 สัญญาสุดท้ายที่ยังรอเปิดประมูล ได้แก่ สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. โดยขณะนี้อยู่ระหว่างจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา และเร่งปรับแบบให้สอดคล้องกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)

สำหรับการลงนามในสัญญา 2.3 นั้นเป็นการลงนามในสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร มีวงเงิน 50,633.5 ล้านบาท ซึ่งยังอยู่ในกรอบวงเงินรวม ของโครงการ 179,412.21 ล้านบาท นั้นในลักษณะความร่วมมือระหว่างรัฐ (G to G) มีขอบเขตงาน ได้แก่ งานวางระบบราง ระยะทาง 253 กิโลเมตร งานระบบรถไฟความเร็วสูง ระบบไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสาร งานจัดหาขบวนรถไฟ งานฝึกอบรมบุคลากรเพื่อการเดินรถและซ่อมบารุง และงานถ่ายทอดเทคโนโลยี

ทั้งนี้เมื่อโครงการนี้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 68 จะเป็นการยกระดับรถไฟไทยให้มีความเจริญก้าวหน้าเป็นการลงทุนเพื่อวางรากฐานความมั่นคงด้านคมนาคมของไทยในระยะยาว ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลในการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีจะสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซีย สร้างศักยภาพและโอกาสใหม่ทางการค้า การลงลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงยังเป็นการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจกระจายสู่ท้องถิ่นอีกด้วย 

อนึงหนึ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา มีแนวเส้นทางโครงการผ่าน 5 จังหวัด มี 6 สถานี คือ สถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา ซึ่ง 4 สถานีหลังเป็นสถานีรถไฟความเร็วสูงที่ก่อสร้างใหม่ ส่วนระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ระยะทาง 354.5 กิโลเมตร เชื่อมไทย-ลาว-จีน อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดโดยฝ่ายไทยทั้งหมด