“ศักดิ์สยาม”ดีเดย์1มค.65โอนสนามบินอุดรฯ-บุรีรัมย์ให้AOT

ผู้ชมทั้งหมด 936 

“ศักดิ์สยาม” เร่งเดินหน้าโอนย้ายสนามบินภูมิภาค 3 แห่ง “อุดรธานี-กระบี่-บุรีรัมย์” ให้ AOT บริหาร ทยอยโอนเริ่ม 1 ม.ค. 65 หวังยกระดับฮับภูมิภาค หนุนการท่องเที่ยวเติบโต

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินการ โอนย้ายสนามบินในสังกัดกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ให้มาอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ AOT ว่า  จากที่กระทรวงคมนาคมได้มีการหาแนวทางร่วมกันกับ กรมท่าอากาศยาน กรมธนารักษ์ (ธร.) และ AOT นั้นล่าสุดกระทรวงคมนาคมได้ข้อสรุปการโอนย้ายท่าอากาศยาน 3 แห่งที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของกรมท่าอากาศยานประกอบด้วย ท่าอากาศยานอุดรธานี กระบี่ และบุรีรัมย์ ให้มาอยู่ในความรับผิดชอบ AOT แล้ว

การโอนย้ายดังกล่าวจะมีการดำเนินการตามขั้นตอนและสำเร็จเป็นรูปธรรมภายใน 1 มกราคม 2565 ซึ่งการโอนย้ายท่าอากาศยานในระยะแรกจะมีการดำเนินการก่อน 2 แห่ง คือ ท่าอากาศยานอุดรธานี และท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ส่วนท่าอากาศยานบินกระบี่จะมีการโอนย้ายในระยะต่อไป ซึ่งการโอนท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่งนี้ให้ AOT จะเป็นการช่วยยกระดับให้ประเทศไทยเป็นฮับด้านการขนส่งคมนาคมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ตามสำหรับแนวทางที่จะดำเนินการเพื่อโอนย้ายท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่งนั้น คือ ทางกรมธนารักษ์ ยินดีที่จะคิดค่าผลประโยชน์ตอบแทน ค่าที่ดินในอัตราที่ AOT เคยจ่ายให้ในอัตราเดียวกับ 6 ท่าอากาศยานที่ AOT ​จ่ายอยู่ในปัจจุบัน

โดยทางกรมธนารักษ์ จะเข้ามาทำสัญญาโดยตรงกับ AOT ในการเข้ามาบริหารท่าอากาศยานอุดรธานี กระบี่ และบุรีรัมย์ จากเดิมทาง ทย.เป็นผู้ทำสัญญากับกรมธนารักษ์ และสัญญาที่จะเซ็นเพื่อให้ AOT เข้ามาบริหารท่าอากาศยานจะเป็นสัญญาระยะยาว ในเบื้อต้นคาดว่าจะอยู่ในระดับ 30 ปี จากเดิมเป็นสัญญา 3 ปี

ทั้งนี้ในส่วนของ ทย.ที่จะโอนท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่งมาอยู่ในความรับผิดชอบ AOT นั้น ทาง AOT จะต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้กับ ทย. แม้ผลตอบแทนที่ AOT จะจ่ายให้ ทย. จะไม่มีประเด็นใดในเชิงการเงิน  ​แต่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับ ทย.เนื่องจากท่าอากาศยานที่โอนมามีศักยภาพมาก และที่ผ่านมาสร้างรายได้ให้กับ ทย.ดังนั้น AOT จึงต้องมีการหารือต่อในประเด็นกระบวนการจ่ายเงินว่าจะเป็นไปในรูปแบบใดบ้าง

โดยในเบื้องต้นทาง AOT ได้กำหนดไว้ 2 รูปแบบคือ 1. มีการทำประมาณการผู้โดยสารตลอดอายุสัญญาและจ่ายผลตอบแทนให้ ทย.เป็นก้อนเดียว และ 2. AOT กำหนดจ่ายผลตอบแทนตามจริงต่อรายหัวผู้โดยสาร ให้กับ ทย.ซึ่งในเรื่องนี้ทาง ทย. จะทำการศึกษาข้อกฏหมายของกองทุนฯ ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมากำหนดรูปแบบการจ่ายที่เหมาะสมให้เข้ามาที่เงินทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานต่อไป 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ในช่วงก่อนหน้านี้ ทาง ทย. ได้มีการเดินหน้าคัดค้านนโยบายการโอนย้ายท่าอากาศยาน 3 แห่งที่อยู่ในกำกับดูแลของ ทย. ให้ AOT มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการอ้างว่าการบริหารท่าอากาศยานในกำกับดูแลของ ทย.เป็นไปในลักษณะที่มีท่าอากาศยานหลายแห่ง และเป็นการจัดการเชิงโครงสร้าง โดยจะมีทั้งท่าอากาศยานที่มีกำไร และที่ไม่ได้มีกำไร แต่จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อให้จังหวัดนั้นๆมีท่าอากาศยานให้บริการอยู่

ดังนั้น ทย.ก็จัดการโดยการนำรายได้จากท่าอากาศยานที่กำไรไปหล่อเลี้ยงท่าอากาศยานอื่นๆ แต่หากมีการโอนย้ายท่าอากาศยานที่มีกำไร ออกจาก ทย. ไปจนรายได้ลดจนมีค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ ท่าอากาศยานทุกแห่งมีผลดำเนินการติดลบ ท้ายที่สุดก็ต้องเป็นภาระภาษีของประชาชน ต้องเอางบประมาณมาดูแลบำรุงรักษาท่าอากาศยานทุกแห่ง

นอกจากนี้ท่าอากาศยานภายใต้การกำกับของ ทย. จากจำนวนท่าอากาศยานทั้งหมด 29 แห่งนั้นมีเพียง 6 แห่งที่สามารถสร้างผลกำไรให้กับ ทย. ประกอบด้วย ท่าอากาศยานกระบี่ นครศรีธรรมราช อุดรธานี อุบลราชธานี ขอนแก่นและสุราษฎร์ธานี ที่สามารถเก็บค่าบริการผู้โดยสารขาออก (Passenger Service Charge : PSC) เข้าสู่กองทุนหมุนเวียนภายใน ทย. รวมๆปีละ 600-700 ล้านบาท และสามารถนำค่าธรรมเนียมมาเลี้ยงดูสนามบินอื่นๆของ ทย. ได้ด้วย

ขณะเดียวกันในประเด็นเรื่องของค่าธรรมเนียมบริการผู้โดยสาร ขาออก หรือ Passenger Service Charge (PSC) ซึ่งปัจจุบันนี้ ทย. และ AOT จัดเก็บในราคาต่างกัน (AOT.สูงกว่า) หากมีการโอนย้ายท่าอากาศยานของ ทย. ไป AOT ท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่งก็จะสามารถปรับขึ้นค่า PSC ได้ทันที แค่เปลี่ยนป้ายหน่วยงานกำกับดูแลเท่านั้น ซึ่งภาระค่า PSC นี้ ก็ตกเป็นภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนผู้ใช้ท่าอากาศยานทันที