“ศักดิ์สยาม” สั่งทย.เร่งพัฒนาศักยภาพสนามบินภูมิภาค 29 แห่งรับเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศ

ผู้ชมทั้งหมด 446 

“ศักดิ์สยาม” สั่งทย.เร่งศึกษาแผนพัฒนาศักยภาพท่าอากาศยานภูมิภาค 29 แห่ง รับเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศ ลดแออัดสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง พร้อมศึกษา MRO รองรับการขนส่งทางอากาศที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธานในพิธีวันคล้ายวันสถาปนากรมท่าอากาศยาน ครบรอบ 89 ปี พร้อมด้วย นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม โดยมี นายปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน พร้อมด้วยผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมท่าอากาศยานให้การต้อนรับ ในวันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ณ กรมท่าอากาศยาน

นายศักดิ์สยาม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวในภาพรวม กระทรวงคมนาคมมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมสนับสนุนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ได้สั่งการให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เร่งศึกษาแผนพัฒนาศักยภาพของท่าอากาศยานในการกำกับดูแลทั้ง 29 แห่งทั่วประเทศ ให้เป็นโครงข่ายการบินและเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ พร้อมให้นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและความปลอดภัยของระบบการบิน รวมถึงการพัฒนามาตรฐานบุคลากรด้านการบินให้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการท่าอากาศยานให้เทียบเท่าระดับสากล

เบื้องต้นให้ทย.พิจารณาว่าท่าอากาศยานแห่งใดมีศักยภาพที่จะพัฒนาให้สามารถรองรับการบินเชื่อมระหว่างภูมิภาค และรองรับอากาศยานที่บินตรงมาจากต่างประเทศ โดยไม่ต้องไปลงจอดแค่ที่ท่าอากาศยานในกรุงเทพ 2 แห่งคือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) และท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) เท่านั้น ซึ่งเฉพาะที่ทสภ.นั้นเวลานี้มีตัวเลขผู้โดยสารใช้บริการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 65-ปัจจุบันรวมกว่า 3 ล้านคนแล้ว ทั้งนี้เพื่อลดความแออัดและอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารให้มากขึ้น รวมถึงการพัฒนาศักยภาพให้สามารถรองรับการบินเชื่อมระหว่างภูมิภาค

อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีท่าอากาศยานของ ทย. เพียง 1 แห่งเท่านั้น คือ ท่าอากาศยานกระบี่ที่สามารถรองรับเที่ยวบินที่บินตรงมาจากต่างประเทศได้ ดังนั้น ทย. ต้องไปพิจารณางบประมาณ เพื่อใช้ดำเนินการขยายทางวิ่ง (รันเวย์) และอาคารผู้โดยสาร (เทอร์มินอล) ในท่าอากาศยานแห่งอื่นๆ ให้สามารถรองรับเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศได้

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ทย. ต้องเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานในการกำกับดูแล โดยเฉพาะการพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาคสู่การเป็นท่าอากาศยานนานาชาติ ซึ่งขณะนี้ ทย.อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์บริการซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือ MRO เพื่อรองรับอากาศยานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการพัฒนาธุรกิจ New S-Curve ของประเทศไทย ซึ่งในปีงบฯ 2566 ทย.จะศึกษา MRO ใน 3 พื้นที่ได้แก่ ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี ท่าอากาศยานนครราชสีมา และท่าอากาศยานพิษณุโลก และในปีงบฯ67 จะขอศึกษา MRO อีก 3 พื้นที่ ได้แก่ ท่าอากาศยานบึงกาฬ ท่าอากาศยานมุกดาหาร และท่าอากาศยานสตูล โดยเบื้องต้นจะเป็นการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ที่รวมเป็นแพ็กเกจเดียวกัน และได้ข้อมูลว่าบริษัท แอร์บัส ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนแล้ว

นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ ทย. บูรณาการท่าอากาศยานส่วนภูมิภาคร่วมกับแผนแม่บทพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-Map) เพื่อให้เกิดการพัฒนาการเชื่อมโยงระบบขนส่ง ล้อ ราง อากาศ อย่างสมบูรณ์ ปัจจุบัน ทย. อยู่ระหว่างศึกษาการก่อสร้างท่าอากาศยานบึงกาฬ และท่าอากาศยานมุกดาหาร ให้เชื่อมโยงกับ MR-MAP อีกทั้งได้ได้สั่งการให้ศึกษาเพิ่มที่ท่าอากาศยานชุมพร และท่าอากาศยานระนอง เพื่อเชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมทะเลฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) ตลอดจนให้ ทย. ทำแผนพัฒนาท่าอากาศยานเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Cargo) ที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อมุ่งให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการส่งสินค้าในภูมิภาคอีกด้วย