“ศักดิ์สยาม” สั่ง กทพ. เร่งแก้ปัญหาจราจรติดขัดบนทางด่วน

ผู้ชมทั้งหมด 661 

ศักดิ์สยาม” เร่งกทพ. แก้จราจรติดขัดบนทางด่วน พบติดหนึบ 3 เส้นทาง เตรียมทางออก 21 โครงการ แก้รถติดเสนอ คจร.-ครม. ในเดือนกุมภาพันธ์ 65 พร้อมสั่งการให้พิจารณาเรื่องแหล่งเงินในการพัฒนาโครงการทางด่วน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามนโยบายการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนทางพิเศษ ว่า ตนได้เน้นย้ำให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เร่งรัดการดำเนินการศึกษาแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษทั้งระบบให้แล้วเสร็จ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.)ให้ทันตามกรอบเวลาที่กำหนดในเดือนกุมภาพันธ์ 2565

อย่างไรก็ตามในเบื้อต้นจากการศึกษาปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษในภาพรวมทั้งระบบของทางด่วนพบว่ามี 3 เส้นทางที่มีปัญหาการจราจรติดขัด ประกอบด้วย ทางพิเศษศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9, ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ช่วงมักกะสัน-ท่าเรือ-บางนา, และทางพิเศษฉลองรัช

โดยสาเหตุหลักที่ทำให้การจราจรติดขัดนั้นเกิดจากความจุของทางพิเศษไม่เพียงพอ,  มีจุดตัดกระแสจราจรบริเวณทางร่วม และทางแยก, การติดขัดบริเวณทางลงทางพิเศษ, ปัญหาการไหลเวียนจราจรบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง และมีหลายจุดเป็นคอขวดทางกายภาพบนทางพิเศษ 

ทั้งนี้จากปัญหาการจราจรติดขัดดังกล่าวตนจึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษา และกำหนดโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรที่สอดคล้องกับสภาพปัญหา ทั้งการวิเคราะห์ความเหมาะสม จัดลำดับความสำคัญ และจัดทำแผนแก้ไขปัญหาการจราจรในภาพรวมทั้งระบบ

โดยแบ่งอกเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษในปัจจุบัน ซึ่งจะมี 21 โครงการ แบ่งเป็น แผนระยะที่ 1 (ปี65-69) จำนวน 16 โครงการ และแผนระยะที่ 2 (ปี 70 เป็นต้นไป) จำนวน 5 โครงการ 

2. โครงการทางพิเศษเพิ่มเติมที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรและเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง จำนวน 11 โครงการ แบ่งเป็น แผนระยะที่ 1 (ปี 65-69) จำนวน 5 โครงการ และแผนระยะที่ 2 (ปี 70 เป็นต้นไป) จำนวน 6 โครงการ

พร้อมกันนี้ตนยังได้สั่งการให้ กทพ.เร่ง พิจารณาเรื่องแหล่งเงินในการพัฒนาโครงการแต่ละโครงการให้ชัดเจน เช่น การบริหารสัญญาของโครงการทางพิเศษเดิม การให้เอกชนร่วมลงทุน หรือการใช้แหล่งเงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) นอกจากนั้น ให้พิจารณาเพิ่มเติมถึงปัจจัยด้านการขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟ รถไฟฟ้า เรือ และรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งอาจส่งผลต่อภาพรวมในการแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษ