“สตาร์ทอัพ” กระทุ้ง “รัฐ” ผนึกกำลังทุกภาคส่วน คลายปมปลดล็อกอุปสรรค “รถEV”

ผู้ชมทั้งหมด 1,182 

การขับเคลื่อนการผลิต “รถยนต์แบบดั้งเดิม” หรือ รถที่ใช้ฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิง จึงกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การส่งเสริมผลิต “รถยนต์ไฟฟ้า(EV)” ที่ถือว่าเป็นเชื้อเพลิงสะอาดและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่การเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ยังไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยังมีปัญหากฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย รวมถึงการสร้างความเข้าใจกับประชาชนผู้ใช้รถ และต้นทุนราคาของแบตเตอรี่ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของรถEV ยังมีราคาแพงอยู่ในปัจจุบัน

แต่การเกิดขึ้นของเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า(รถ EV) เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ และนับวันจะเข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตของประชาชนในประเทศไทยมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนการใช้รถEV เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ภาคเอกชนไทย จึงร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลจากผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับวงการผลิตและการใช้รถ EV ผ่านเวที EVAT Tech Forum 2021 ในหัวข้อ “พลิกวิกฤต Covid – 19 กับความท้าทาย Start up ยานยนต์ไฟฟ้าไทย” ที่จัดขึ้นภายใต้งาน ASEAN SUSTAINABLE ENERGY WEEK 2021 AND PUMPS & VALVES ASIA 2021VIRTUAL EDITION เมื่อเร็วๆนี้

นายศุภพงษ์ กิติวัฒนศักดิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท บริษัท เออร์เบิน โมบิลิตี้ เทค จํากัด (MuvMi) ระบุว่าธุรกิจรถ 3 ล้อ หรือ รถตุ๊กตุ๊ก ในประเทศไทยมีข้อจำกัดเรื่องกฎหมายในหลายด้านและมีค่าใช้จ่ายในระยะทางการวิ่งรถไม่สอดคล้องกัน ทำให้เกิดการใช้งานเฉพาะกลุ่มเท่านั้น แต่บริษัทเล็งเห็นประโยชน์จากการใช้งานรถตุ๊กตุ๊กที่จะเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมต่อการเดินทางระบบสาธารณะให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดในเขตเมืองหลวง บริษัทจึงได้ผลิต “รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า” ภายใต้แบรนด์ มูฟมี ขึ้นมาเป็นทางเลือกสำหรับการเดินทางและการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าก็จะช่วยลดปัญหามลภาวะ ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการวิ่งรถใน 6 โซน ครอบคลุมพื้นที่ 5 ตารางกิโลเมตร หรือมีรถอยู่ประมาณ 600 คัน และอยู่ระหว่างขยายธุรกิจออกไปต่อเนื่อง โดยมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 10 บาทต่อคน

“การทำธุรกิจรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า สิ่งที่ยากคือ การทำความเข้าใจกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ประชาชน สังคม เนื่องจากเป็นธุรกิจใหม่การทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายถือเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นงานที่เหนื่อยเพราะต้องทุกกับทุคนให้เข้าใจและเกิดการยอมรับ”  

ดังนั้น บริษัทพร้อมที่จะเป็นพันธมิตรกับทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการใช้งานรถไฟฟ้าให้เกิดขึ้น เพราะหากธุรกิจนี้โตทุกคนจะมีส่วนเติบโตไปร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันต้นทุนรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าจะมีราคาแพงอยู่ที่ประมาณ 5.8 แสนบาทต่อคน แต่หากเปรียบเทียบการใช้งานจริงแล้วจะพบว่ามีความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับรถที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันและไม่เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ขณะที่กฎหมายที่เกิดขึ้นไม่ทันกันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ก็ยังเป็นอุปสรรคต่อการใช้งานรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า แต่ก็เห็นความพยายามของภาครัฐ เช่น BOI สภาอุตสาหกรรมฯ ก็กำลังผลักดันเรื่องนี้อยู่  

นายชยุตม์ ศรีเพียร ผู้ก่อตั้ง (Founder) และประธานกรรมการบริหาร บริษัท เพาเวอร์อัพ (ประเทศไทย) จำกัด (PUTT) กล่าวว่ารถ TUK TUK PUTT เป็นรถที่ถูกออกแบบมารองรับการใช้งานสำคัญกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าตลาดสด และกลุ่มผู้สูงอายุที่สามารถนำรถเข็นวีลแชร์ขึ้นมาใส่ไว้ในตัวรถได้ ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ให้บริการของบริษัทยังมีน้อยแห่งอยู่ คือมีที่บางขุนเทียน และพรานนก เป็นต้น เพราะยังมีข้อจำกัดเรื่องของจุดชาร์จแบตเตอรี่

“เดิมเราตั้งใจผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าเพื่อขายให้กับอู่รถต่างๆ แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องปรับตัว ด้วยการผลิตรถออกมาทดสอบตลาดเอง โดยเจาะกลุ่มผู้สูงอายุและพ่อค้าแม่ค่าตลาดสด ซึ่งเป็นตลาดเฉพาะ”

ทั้งนี้ การเปลี่ยนมาเป็นผู้ใช้บริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ในอนาคตก็มองเรื่องของการทำธุรกิจในโมเดลของ ธุรกิจแฟรนไชส์ เปิดโอกาสให้สามารถเข้ามาร่วมลงทุนได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ายังมีต้นทุนสูงเพราะยังต้องนำเข้าแบตเตอรี่และชุดขับเคลื่อน เนื่องจากประเทศไทยยังไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาได้ หรือมีต้นทุนที่สูงอยู่ ทำให้บริษัทต้องนำเข้าอุปกรณ์ดังกล่าวจากประเทศจีน ซึ่งหากประเทศไทยสามารถพัฒนาขึ้นได้ บริษัทก็พร้อมสนับสนุนผู้ผลิตในไทย

นายณัฐพัชร เลิศวิริยะสวัสดิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง (Co-Founder) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอดิสัน มอเตอร์ จำกัด (Edison Motors) ระบุว่า การทำตลาดรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในประเทศไทยยังมีช่องว่างอยู่มากยังสามารถมีลูกเล่นได้อีกหลายแบบ แต่การผลิตรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ยังต้องเผชิญกับปัญหากฎเกณฑ์ต่างๆ การจดทะเบียน และการหาซัพพลายเออร์ที่ยาก ซึ่งยอมรับว่ากว่าจะผลิตรถออกมาได้หนึ่งคันยังเป็นเรื่องยาก ทำให้บริษัทเป็นค้นคว้าวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ต่างๆเองเกือบทั้งหมด มีเพียงมอเตอร์และแบตเตอรี่ที่ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว ดังนั้น หากมีการพัฒนาแพลตฟอร์มการผลิตตัวรถออกมาได้ ก็เชื่อว่าจะทำให้มีนักลงทุนสนใจเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามากขึ้น

นายสรณัญช์ ชูฉัตร ผู้ก่อตั้ง (Founder) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีทรานส์ (ประเทศไทย) จำกัด (ETRAN) กล่าวว่า บริษัท มีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนธุรกิจในเติบโตอย่างยั่งยืน และรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่เป็นสะพานที่จะเชื่อมต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานกับอุตสาหกรรมการผลิตรถที่มีตลาดขนาดใหญ่เพื่อตอบโจทย์การรักษาสิ่งแวดล้อมในอนาคต

“ 5ปีที่ผ่านมา ETRAN ลงทุนกับระบบให้รถEVใช้งานได้จริง ปีนี้ลงทุนจุดเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Swap แบตเตอรี่) ซึ่งเดือนหน้าก็จะเริ่มเห็น และปีหน้าตั้งเป้าหมายจะมี 100 จุด เราให้ความสำคัญกับแบตเตอรี่ เราวิจัยเข้มงวด ปีหน้าจะมีข่าวดีเรื่องแบตเตอรี่ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนของEV ”

อย่างไรก็ตาม บริษัทเล็กเห็นโอกาสจากโควิด-19 จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ นำ ETRAN MYRA มาวิ่งใช้บริการส่งพัสดุและบริการส่งอาหาร หรือ Food Delivery ที่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยตั้งเป้าส่งมอบรถ ETRAN MYRA แก่ลูกค้าจำนวน 1,000 คัน ภายในสิ้นปีนี้

นายพูนพัฒน์ โลหารชุน กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด (Evolt) ระบุว่า การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทก็ได้ริเริ่มด้วยการลงทุนสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าและพัฒนาโซลูชั่นอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งาน ขณะเดียวกันการสื่อสารกับคนส่วนไปให้เข้าใจถึงรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ว่าจะมีส่วนสำคัญในการช่วยดูแลผลกระทบต่อโลกอย่างไรนั้น ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยขับเคลื่อนการใช้งานรถEV ให้เกิดขึ้นได้

ปัจจุบัน บริษัทมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ารวมประมาณ 200 แห่ง และมีเป้าหมายจะเพิ่มอีก 50 แห่งในปีนี้ เพิ่มอีก 200 แห่งในปีหน้า และปีถัดไปอีก 300 แห่ง ซึ่งจะขยายการติดตั้งเข้าไปให้ครอบคลุมในห้างสรรพสินค้า สำนักงาน และถนนสายหลักมากขึ้น

นายกฤษฏิ์ วิชัยวัฒนาพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด (Haupcar) ระบุว่า บริษัท เป็นผู้ใช้บริการธุรกิจ “คาร์แชริ่งหรือ บริการรถใช้เช่าโดยไม่ต้องซื้อ ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาก็ได้นำรถออกไปรองรับการใช้งานวิ่งขนส่งยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยที่ผ่านมาธุรกิจนี้มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด และในอนาคตคาดว่าจะตอบโตการใช้งานของประชาชนที่อาศัยอยู่ในคอนโดมีเนียมต่างๆที่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่จอดรถ เพื่อจูงใจให้เกิดการใช้งานรถสาธารณะมากขึ้น และในช่วงการระบาดของโควิด-19 กลุ่มคนที่มีรถแต่ไม่ได้ใช้งานรถก็สามารถนำออกมาปล่อยเช่าเพื่อสร้างรายได้ได้อีกทางด้วย

“เราเชื่อว่า ธุรกิจ คาร์แชริ่ง จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้งานรถEV ที่มากขึ้นในอนาคต”