“สถาบันปิโตรเลียมฯ” เสนอ “รัฐ” เร่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ผุดท่าเรือฝั่งตะวันตกเปิดประตูการค้า

ผู้ชมทั้งหมด 1,120 

สถาบันปิโตรเลียมฯ ชู 5 ปรัชญา ขับเคลื่อนประเทศไทยใน 30 ปีข้างหน้า ชี้ “รัฐ- นักการเมือง” ต้องเป็นฮีโร่ คลอดนโยบายซัพพอร์ตเอกชน ดันผุดเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ สร้างท่าเรือตะวันตกเปิดประตูการค้าผลักดันส่งออก ปั้นฮับยางพารา และปาล์มคอมเพล็กซ์ภาคใต้ พร้อมเร่งพัฒนาต่อยอด 3 อุตสาหกรรม ปิโตรเคมี เคมีเสริม และชีวภาพ

สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้รับมอบหมายจาก สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ให้ศึกษากรอบการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต ในพื้นที่ EEC และพื้นที่ใหม่ที่มีศักยภาพ โดยสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เห็นว่าการศึกษานี้ เป็นหัวใจที่จะช่วยแก้วิกฤตเศรษฐกิจและขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และจะต้องทำการศึกษาอย่างกว้างขวางและอย่างบูรณาการ จึงได้ตั้งใจกลั่นกรองเสนอแนวคิด นโยบาย อุตสาหกรรมที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ไทยน่าจะมีความได้เปรียบในอนาคต ตลอดจนการวิเคราะห์ตลาดเป้าหมาย ความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการแนะนำการเปิดพื้นที่ใหม่ที่จะมีศักยภาพพลิกฟื้นความยากจนด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรม เสนอเรื่องระบบโลจิสติกส์ที่เหมาะสม การปลูกจิตสำนึก และเตรียมการเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคม และแผนปฏิบัติการที่ต้องลงไปถึงการเตรียมการอย่างดี (Preparation) ก่อนลงมือพัฒนาพื้นที่

คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต ที่ปรึกษาสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย บรรยายเรื่อง “ชะตากรรมของไทยในอีก 30 ปีข้างหน้า : ต้องมี “ใจใหม่” โครงการศึกษากรอบแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกและพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อการพัฒานาเศรษฐกิจในอนาคต โดยระบุว่า การจะพัฒนาประเทศให้ก้าวต่อไปใน 30 ปีข้างหน้า(ปี 2564-2593) จำเป็นต้องมี “หัวใจใหม่” ที่เขียว และเปิดกว้าง : 5 ปรัชญา เป็นเสาหลักในการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยหากยังไม่รีบฉวยโอกาสต่างๆ ที่กำลังเข้ามาการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลก (Mega Trend) และตลาดใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น (New Growth Poles) ไทยจะถูกแย่งโอกาสนี้ไป โดยคู่แข่งอื่นที่พร้อมจะตะครุบโอกาสนี้เช่นกัน ซึ่งทุกคนรู้ว่าประเทศไทยตกหล่มเศรษฐกิจมาอย่างน้อย 10-15 ปี และไม่สามารถจะปล่อยให้สถานะนี้ดำเนินต่อไปได้อีกแล้ว แต่จะพึ่งรัฐบาลอย่างเดียวเพื่อจะพวกเราขึ้นจาก “หล่ม” เห็นจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกันนำพาประเทศไปข้างหน้าไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาชน และภาคชุมชนทั่วไป จะต้องพาประเทศขึ้นจากหล่มเศรษฐกิจนี้ด้วยการมี “ใจใหม่”

“30 ปีที่ผ่านมา เอกชน เป็นฮีโร่ ขับเคลื่อนประเทศซึ่ง อีสเทิร์นซีบอร์ด เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เพราะถ้าไม่มี อีสเทิร์นซีบอร์ด ประเทศไทยก็จะไม่มี GDP 8-9% ให้เห็น แต่ใน 30 ข้างหน้า นักการเมือง จะต้องทำตัวให้แข็งแกร่ง เป็นฮีโร่ เพราะ 30 ปีข้างหน้าจะว่ากันด้วยเรื่องของนโยบายและปรัชญา ภาครัฐจึงต้องเป็นตัวนำขับเคลื่อนนโยบายร่วมกับภาคประชาชนและภาคเอกชน”

สำหรับ 5 ปรัชญาเสาหลักในการพัฒนาประเทศในอนาคต ประกอบด้วย…

ปรัชญาที่ 1 การส่งออก คือหัวใจสำคัญ ต้องมีประตูตะวันตก(West Gate) เพื่อยึดหัวหาดตลาดทางตะวันตกที่กำลังเติบโต เจาะตลาด 9 ประเทศที่มีศักยภาพ ได้แก่ บังคลาเทศ,อินเดีย,อิหร่าน,อียิปต์,ไนจีเรีย, ตุรกี,ปากีสถาน,แอฟริกาใต้ และรัสเซีย โดยจะต้องกำหนดแนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) เพื่อพัฒนาท่าเรือฝั่งตะวันตก รองรับระบบขนส่งและเครือข่ายโลจิสติกส์ ซึ่งเสนอแนะให้รัฐบาลควรพิจารณาการสร้างท่าเรือที่กันตัง ทุ่งหว้า ปากบารา หรือ ตำมะลัง โดยเฉพาะปากบารา เพราะถือว่าอยู่ละแวกพื้นที่พัฒนาเดียวกันกับทุ่งนเรนทร์หรือปะนาเระ ซึ่งเหมาะสมกว่าท่าเรือระนอง ที่อยู่ไกลเกินไป และไม่เหมาะสมกับการรองรับการส่งออกสินค้าจากทุ่งนเรนทร์-ปะนาเราะ จ.ปัตตานี

ปรัชญาที่ 2 ไฮโดรคาร์บอนเป็นแกนการพัฒนาประเทศใน 30 ปี ข้างหน้า ร่วมกับยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย และมันสำปะหลัง รวมถึง ฝากให้รัฐบาลจริงจังกับการเดินหน้าเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ‘ไทย-กัมพูชา’ เพื่อนำไปสู่การสำรวจและการพัฒนาก๊าซฯขึ้นมาใช้ในอนาคต เนื่องจากประเทศไทยได้ใช้ก๊าซธรรมชาติที่ค้นพบในอ่าวไทยมานานแล้ว และก๊าซฯจะไม่เพียงพอในอนาคต

ปรัชญาที่ 3 ทำให้ CLMV แข็งแกร่ง เพื่อร่วมสร้างการผลิตและการตลาดให้ทั้งกลุ่มเติบโตไปด้วยกัน โดยรัฐจะต้องทำให้ความร่วมมือ ACMECS เรื่องกฎระเบียบ และความร่วมมือทางการเงินให้เอื้อต่อการลงทุนบรรลุผลโดยเร็ว และเร่งต่อยอดนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมให้สมาชิก CLMVT ลงทุนและทำธุรกิจข้ามประเทศ

ปรัชญาที่ 4 ใช้คุณค่าของความเป็นเลิศ(Strengths)ของประเทศให้มากที่สุด เพื่อสร้างความมั่นคงให้ภาคใต้และประเทศ ได้แก่ การเป็นศูนย์การอุตสาหกรรมยานยนต์ในเอเชีย(Automotive Hub) เพื่อนำไปสู่ Rubber Hub, การมีวัตถุดิบชีวภาพจำนวนมาสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ(Bio-industry) เพื่อนำไปสู่ Biodiesel Hub และ Oleochemicals,การเป็นครัวของโลก(World kitchen) และการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นิยมของโลก (Tourism)

ทั้งนี้ เสนอแนะให้พัฒนาเป็น “Cluster of rubber-palm (ภาคใต้ตอนบน) และ Petrochemicals (ภาคใต้ตอนล่าง)” โดยใช้ความแข็งแกร่งด้านวัตถุดิบเกษตร และความสามารถเรื่องปิโตรเคมีของประเทศ โดยรัฐบาลต้องพิจารณาหับจ้อต่อไปนี้ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานรองรับอุตสาหกรรม ,ระบบ Incentive ที่จูงใจกว่าเดิมเพื่อดึงดูดนักลงทุนใหม่ๆ ที่นำยางพาราและปาล์มไปเพิ่มมูลค่า ,ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปใหม่ๆ ,ส่งเสริมการพัฒนาย่านธุรกิจพาณิชย์และบริการ และกำหนดโครงสร้างผู้ถือหุ้นของกิจการยาพาราและปาล์ม โดยสงวนการลงทุนต้นน้ำและกลางน้ำให้คนไทย

นอกจากนี้ ยังต้องคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรม 3 ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ได้แก่ อ้อย และมันสำปะหลัง คือ ภาคเหนือตอนล่าง และอีสาน ส่วนปาล์มน้ำมันและยางพารา คือ ภาคใต้ ตลอดจนกำหนดนโยบายส่งเสริมวัตถุดิบชีวภาพ โดยใช้เทคโนโลยีผลักดัน GMO ลดปัญหาพื้นที่ปลูกและเพิ่มปริมาณวัตถุดิบให้เพียงพอ

และปรัญชาที่ 5 “Circular Economy สร้างคุณค่าสำหรับทุกอย่าง” เพื่อให้เกิดการใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่า และไม่สิ้นเปลืองทรัพยากร โดยเสนอให้ภาครัฐออกกฎหมายคัดแยกและรีไซเคิลขยะ ตามหลัก Extended Stakeholder Responsibility-ERS โดยเร็ว รวมถึง มีระเบียบจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐและเอกชนรายใหญ่ๆ ให้จัดหาผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัสดุรีไซเคิลอย่างน้อย 10% ของการจัดซื้อทั้งหมด (เป็นตัวเลขที่ยังไท่ได้วิเคราะห์ ยกขึ้นมาเป็นตุ๊กตาเท่านั้น)

สำหรับ 3 อุตสาหกรรมหลักที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศใน 30 ปีข้างหน้า ได้แก่ อุตสาหกรรมกลุ่มที่ 1 ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ที่มาจาก 9 อุตสาหกรรม 42 ผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมกลุ่มที่ 2 ผลิตภัณฑ์เคมีเสริม และอุตสาหกรรกลุ่มที่ 3 ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย คือ ผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ และผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวภาพ