สนพ. แย้มร่าง “แผนPDP ฉบับใหม่” ต้องรอ “รัฐบาลชุดใหม่” อนุมัติ

ผู้ชมทั้งหมด 784 

สนพ. แย้ม แผนพลังงาน PDP ฉบับใหม่ 2023 คงต้องรอนำเสนอรัฐบาลชุดใหม่อนุมัติ ขณะที่ร่างแผนฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงกลางปีนี้ มุ่งเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเกิน 50% ยันพยายามรักษาอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดแผนไม่หลุดกรอบกว่า 3.60 บาทต่อหน่วย  

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยว่า สนพ.อยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan 2023) ฉบับใหม่ ซึ่งจะประกอบด้วย 5 แผนสำคัญ ได้แก่ 1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ 5. แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) โดยคาดว่า การจัดทำแผนจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปีนี้ จากนั้นจะต้องนำเสนคณะอนุกรรมฯ ที่มีปลัดกระทรวงพลังงานพิจารณาอนุมัติ และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมฯอีกครั้ง พร้อมนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ที่มีนายกฯเป็นประธาน พิจารณาก่อนนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติต่อไป

แผนพลังงานฯ เข้าใจว่าอาจจะต้องรอการจัดตั้ง ครม.หลังการเลือกตั้งเป็นผู้อนุมัติ ซึ่งเดิมแผนนี้ตั้งใจจะให้เสร็จสิ้นช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆยังไม่นิ่ง ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงล่าสุด มติ กพช. ได้เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม ครั้งที่ 2)” มากขึ้นเป็น 12,700 เมกะวัตต์ จากเดิมที่กำหนดให้มีไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพียง 9,996 เมกะวัตต์ ทำให้สมมติฐานต่างๆยังไม่นิ่ง การจัดทำแผนฯ เลยล่าช้าออกไป”

อย่างไรก็ตาม ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ แผน PDP ฉบับใหม่ (PDP 2023) ยังมุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% เพื่อให้ไทยบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ.2065 โดยที่สำคัญจะพยายามรักษาอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดแผน 20 ปี ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับ PDP2018 Rev.1 ที่อัตราไม่เกินกว่า 3.60 บาทต่อหน่วย

นายวีรพัฒน์ กล่าวว่าอีกว่า สำหรับแนวโน้มยอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) ปี2566 คาดว่า จะเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่อยู่ในระดับประมาณ 32,000-33,000 เมกะวัตต์ เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณการใช้ไฟฟ้าในทุกภาคส่วนกลับมาเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยยังมีอัตราสำรองไฟฟ้า อยู่ในระดับสูงราว 33%

“พีค ไฟฟ้าของไทยที่สูงขึ้นเกิดจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเพื่อนบ้านทั้งสิงคโปร์ และมาเลเซีย ก็อยู่ในระดับสูง แต่พอหลังพ้นโควิด-19 สิงคโปร์ก็ลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์เกิดขึ้นตามแผน และปัจจุบัน สิงคโปร์ และมาเลเซีย เริ่มปรับเกณฑ์การสำรองไฟฟ้า เกินระดับอดีตที่ 15% ไปอยู่ที่ 27-30% และ 28-30% หลังเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม อัตราสำรองไฟฟ้าของไทย จะเริ่มกลับไปอยู่ที่ระดับ 15% ตามปกติได้ในช่วงตั้งแต่ปี 2570-2571 หลังจากโรงไฟฟ้าเก่าทยอยหมดอายุลง ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รวมถึงการจัดทำแผน PDP ที่ปรับปรุงใหม่ และคำนึงถึงผลกระทบรอบด้านทั้งความมั่นคงทางพลังงาน ราคาที่เหมาะสม รวมถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม

“ไม่ว่า รัฐบาลชุดไหนจะเข้ามาบริหารประเทศหลังการเลือกตั้ง กระทรวงพลังงาน ก็คาดหวังว่า แผนพลังงานฯ จะเดินหน้าตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ เพราะคำนึงผลกระทบจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบคอบ แม้ว่าในแง่ของนโยบายอาจมีเปลี่ยนแปลงบ้างก็ตาม แต่เชื่อว่าจะไม่หลุดกรอบ  Energy Trilemma”