สบพ.ทบทวนแผนก่อสร้างศอต.หลังสภาพัฒน์สั่งหั่นงบ

ผู้ชมทั้งหมด 529 

สบพ. เผย เร่งทบทวนแผนศึกษาโครงการก่อสร้างฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา หลัง “สภาพัฒน์” สั่งหั่นงบไม่ให้เกิน 1,200 ล้านจาก 2,715 ล้าน

น.ส.ภัคณัฏฐ์ มากช่วย รักษาการผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) เปิดเผย ว่า โครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา (ศอต.) บนพื้นที่ 100 ไร่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกนั้น สบพ. อยู่ระหว่างเตรียมศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมฯอีกครั้ง หลังจากผลการศึกษาความเป็นไปได้ในครั้งแรก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ให้ความเห็นว่า เป็นโครงการลงทุนที่มีขนาดใหญ่เกินไป และขอให้ปรับขนาดการลงทุนลงไม่ให้เกิน 1,200 ล้านบาท

นอกจากนี้แล้วในการดำเนินการทางสภาพัฒน์แนะนำให้แบ่งการดำเนินการเป็นระยะ (เฟส) โดยให้ลงทุนในเฟสแรกก่อน ประกอบกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ระลอกแรกที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) สบพ. จึงให้ชะลอการดำเนินโครงการ และทบทวนโครงการใหม่อีกครั้งตามปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้จากผลการศึกษาในครั้งแรกที่ดำเนินการศึกษาเสร็จและบอร์ด สบพ. มีมติเห็นชอบเมื่อประมาณเดือนเมษายน 2562 มีกรอบวงเงินลงทุนประมาณ 2,715 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.สิ่งปลูกสร้าง วงเงิน 1,815 ล้านบาท, ค่าครุภัณฑ์อุปกรณ์การเรียนการสอน 450 ล้านบาท และงบดำเนินการ 450 ล้านบาท

สำหรับผลการศึกษาในรอบใหม่จะต้องใช้เวลาอีกสักระยะ และไม่ทันภายในปีนี้ เพราะการจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ ต้องมีการนำเสนอรายละเอียดต่างๆ ให้รอบด้าน โดยเฉพาะการออกแบบรายละเอียดการก่อสร้าง อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น สบพ. คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2568 และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมทั้งเปิดทำการเรียนการสอนได้ในปี 70 เป็นต้นไป

โดยระยะแรกจะเปิดรับนักเรียนแค่ 1 ชั้นเรียนก่อน ประมาณ 28 คน จากนั้นจะค่อยๆ เพิ่มชั้นเรียนขึ้น ภายใต้มาตรฐานของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหภาพยุโรป (EASA) สำหรับศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา มีจุดประสงค์ในการผลิตช่างซ่อมอากาศยานมาตรฐานเอียซ่า เพื่อรองรับโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานขนาดใหญ่ (MRO) และการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน (OEM) ที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งในอนาคตจะไม่ใช่เพียงแค่จัดการเรียนการสอน เพื่อผลิตช่างซ่อมอากาศยานเท่านั้น แต่จะมีการเปิดสอนในหลักสูตรอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย