“สุพัฒนพงษ์”ย้ำโซลาร์ฟาร์มทบ. 30,000 MW ต้องบรรจุในแผนพีดีพี

ผู้ชมทั้งหมด 1,312 

“สุพัฒนพงษ์” ย้ำโซลาร์ฟาร์มกองทัพบก 30,000 MW ต้องบรรจุในแผนพีดีพี แต่ต้องผลการศึกษาให้ชัดเจนก่อน ชี้ทบ.ปรารถนาดีช่วยศึกษาศักยภาพ ขณะความต้องการใช้ไฟฟ้าเชื่อมั่นฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ ยันรับซื้อไฟฟ้าลาวตามกรอบสัญญา

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผย ว่า กรณีกองทัพบก (ทบ.) ที่ได้ลงนามร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดิน(โซลาร์ฟาร์ม) ขนาดกำลังการผลิต 30,000 เมกะวัตต์ และจะนำร่องศึกษา จำนวน 300 เมกะวัตต์ พื้นที่ 3,000 ไร่ บนพื้นที่ราชพัสดุที่อยู่ในความดูแลของ ทบ. ต.แก่งเสี้ยน อ.เมืองกาญจนบุรี นั้นเป็นโครงการเพื่อการศึกษาศักยภาพความเป็นไปได้ในการลงทุนพัฒนา ซึ่งจะต้องนำมาบรรจุในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2022) ด้วยแต่ก็ต้องรอให้ผลการศึกษาแล้วเสร็จก่อนว่าศักยภาพจะทำได้จริงหรือไม่อย่างไร 

ส่วนการจัดทำแผนพีดีพีใหม่จะต้องแล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในปี 2565 ทั้งนี้ขั้นตอนการจัดทำแผนพีดีพีนั้นต้องรับการพิจารณาจากกระทรวงพลังงาน คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และต้องทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากภาคประชนก่อนหลังจากนั้นเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม) โดยแผนพีดีพีนั้นจะต้องมีการทบทวนใหม่ทุกๆ 3 ปี อยู่แล้วเพราะเทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงเร็ว

อย่างไรก็ตามการศึกษาศักยภาพในการพัฒนาโซลาร์ฟาร์มของ ทบ.และกฟผ. ก็เป็นความปารถณาดีของ ทบ.ที่ต้องการช่วยเสริมความมั่นคงด้านไฟฟ้า ซึ่งก็ต้องนำมาบูรณาการร่วมกัน ส่วนโครงการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ขณะนี้จะนำร่อง 500 เมกะวัตต์ก็ต้องมาศึกษาถึงความเหมาะสมร่วมกันก่อนถึงจะพิจารณาบรรจุในแผนพีดีพี 

สำหรับกรณีที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศในปัจจุบันมีความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงส่งผลให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าอยู่ระดับสูงจากปกติควรอยู่ระดับ 15-20% นั้นเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เศรษฐกิจชะลอตัวจึงส่งผลต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง แต่เมื่อโควิด-19 คลี่คลาย เศรษฐกิจฟื้นตัวการใช้ไฟฟ้าก็จะเริ่มกลับมาปกติ และอนาคตอาจจะสูงขึ้นมากเมื่อรถไฟฟ้าเสร็จทั้งระบบ และการก้าวสู่เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) จะส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น 

ส่วนการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างไทยกับลาว ยังคงเป็นไปตามแผน เนื่องจากมีต้นทุนราคาค่าไฟฟ้าที่ไม่แพง ซึ่งก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องปฏิเสธการรับซื้อไฟฟ้าจากลาว โดยปัจจุบันเหลือสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากลาวประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ จากกรอบบันทึกความร่วมมือ (MOU) ที่ไทยจะซื้อไฟฟ้าจากลาวในปริมาณ 9,000 เมกะวัตต์