ส่องความคืบหน้า! โครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ก่อสร้างแล้วเสร็จเพียง 1 สัญญา 

ผู้ชมทั้งหมด 565 

ส่องความคืบหน้า! โครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ก่อสร้างแล้วเสร็จเพียง 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 9 สัญญา เตรียมการก่อสร้าง 1 สัญญา และอยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง 3 สัญญา กำหนดเปิดบริการเม.ย.69

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน เชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) โดยระบุว่าตนได้เร่งรัดการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมายและแผนงาน รวมถึงเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการ เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ช่วยส่งเสริมการพัฒนา และกระจายความเจริญรวมถึงการสร้างโอกาสอันดีแก่ประเทศไทยในการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ด้วยรถไฟความเร็วสูงควบคู่ไปกับการส่งเสริมคุณค่าอันโดดเด่นให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละจังหวัด

โดยโครงการระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 253 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 6 สถานีประกอบด้วย สถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมาแบ่งสัญญางานโยธาออกเป็น ทั้งหมด 14 สัญญา ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 9 สัญญา เตรียมการก่อสร้าง 1 สัญญา และอยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง 3 สัญญาโดยรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน จะใช้ระบบรถไฟใช้ประเภทรถโดยสาร EMU (Electric Multiple Unit) กำลังขับเคลื่อนสูงสุด 5,200 กิโลวัตต์ มีความจุของขบวนรถ 600 ที่นั่งต่อขบวน ที่ความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพถึงนครราชสีมา 1 ชั่วโมง 30 นาทีซึ่งถือเป็นการยกระดับมาตรฐานรถไฟไทย ให้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นการลงทุนเพื่อวางรากฐานความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยในระยะยาว โดยยังมั่นใจว่าจะยังสามารถเปิดบริการเดินรถได้ในเดือนเมษายน 2569

พร้อมกันนี้ตนยังได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในประเด็นโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ที่ยังมีประเด็นในสัญญา 3 – 1 ช่วงแก่งคอย – กลางดง และช่วงปางอโศก – บันไดม้า 4-1 ช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง และสัญญา 4 – 5 ช่วงบ้านโพ – พระแก้วให้ รฟท. พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัดให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2565 ให้สามารถดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จตามกำหนดการของโครงการ

นอกจากนี้ยังได้กำชับต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินโครงการให้เป็นไปตามแผนงานเพื่อผลักดันให้ระบบรางเป็นระบบหลักในการเดินทางและการขนส่งของประเทศ สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลในการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาคสร้างศักยภาพและโอกาสใหม่ทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงสนับสนุนการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจโดยรอบเส้นทาง เกิดการกระจายความเจริญอย่างทั่วถึง และลดความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยต่อไป