ส่องความพร้อมรถไฟฟ้าสายสีชมพู ก.ย.นี้ ทดสอบเดินรถ

ผู้ชมทั้งหมด 1,355 

หากการดำเนินการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครเป็นไปตามแผนในช่วงปี 2570 จะมีระบบขนส่งด้วยรถไฟฟ้าเชื่อมโยงกันกว่า 9 เส้นทาง ไม่ว่าจะเป็น สายสีเขียว สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีทอง สายสีชมพู สายสีเหลือง สายสีส้ม สายสีแดง รวมถึง แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ก็จะทำให้การเดินทางสะดวก สบายขึ้น 

ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างอยู่ 3 เส้นทาง คือ สายสีชมพู สายสีเหลือง สายสีส้ม ซึ่งในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มีระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร มีความคืบหน้า 86.51% โดยเตรียมทดสอบเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งในระหว่างนี้จะขอให้เปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการฟรีด้วย ก่อนจะเปิดให้บริการบางช่วงอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งในระยะแรกรถไฟฟ้าสายสีชมพูนั้นจะทยอยเปิดให้บริการจากสถานีมีนบุรี-สถานีหลักสี่ สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS) และรถไฟฟ้าสายสีแดง และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการเต็มรูปแบบทุกสถานีในเดือนมิถุนายน 2566 

สำหรับจุดเริ่มต้นเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพูนั้น มีจุดเริ่มต้นบนถนนรัตนาธิเบศร์ บริเวณถัดจากศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวซ้ายบริเวณแยกแครายเข้าสู่ถนนติวานนท์และวิ่งตามถนนติวานนท์ผ่านหน้าสถาบันโรคทรวงอก แยกสนามบินน้ำและวัดชลประทานรังสฤษดิ์  จนถึงบริเวณใกล้ห้าแยกปากเกร็ด จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนแจ้งวัฒนะ ผ่านศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี ลอดใต้ทางด่วนขั้นที่ 2 (ศรีรัช) ผ่านศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ผ่านแยกหลักสี่ โดยลอดใต้ทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลเวย์) ข้ามวงเวียนหลักสี่ จากนั้นแนวเส้นทางจะวิ่งไปบนถนนรามอินทรา ยกระดับข้ามทางด่วนพิเศษฉลองรัชที่บริเวณแยกวัชรพล แล้ววิ่งไปจนถึงแยกมีนบุรี เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนสีหบุรานุกิจ ข้ามคลองสามวา เลี้ยวขวาข้ามคลองแสนแสบ และเข้าสู่ถนนรามคำแหง (สุขาภิบาล 3) ซึ่งมีสถานีสุดท้ายที่บริเวณใกล้ซอยรามคำแหง 192 โดยมีอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง และศูนย์ซ่อมบำรุงอยู่ในบริเวณเดียวกัน รวมมีสถานีรับส่งผู้โดยสาร 30 สถานี

เชื่อมโยงรถไฟฟ้า 4 เส้นสาย

รถไฟฟ้าสายสีชมพูสามารถเชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้าสายหลัก 4 เส้นทางได้แก่ จุดที่ 1 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) จุดที่ 2 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่สถานีหลักสี่ (PK14) จุดที่ 3 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) จุดที่ 4 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ที่สถานีมีนบุรี (PK30)

ส่วนระบบรถไฟฟ้าสายสีชมพูนั้นเป็นระบบรางเดี่ยว หรือ โมโนเรล รูปแบบของขบวนรถไฟฟ้ามีรูปทรงที่โฉบเฉี่ยวทันสมัย มีความกว้างประมาณ 3.142 เมตร ยาวประมาณ 50.474 เมตร (4ตู้) ความสูงประมาณ 4.053 เมตร ขับเคลื่อนด้วยล้อยาง และควบคุมการเดินรถอัตโนมัติจากศูนย์ควบคุม สามารถจุผู้โดยสารได้ 17,000 – 28,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ความเร็วเฉลี่ย 35 กม./ชม. สูงสุด 80 กม./ชม. ซึ่งใกล้เคียงกับขนส่งขนาดใหญ่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน ใช้ล้อยางแทนล้อเหล็กซึ่งจะช่วยลดปัญหาการเกิดเสียงดังขณะขับเคลื่อน ขบวนขนาดเล็ก เขตทางกว้าง 6.7 – 7.3 เมตร และใช้รัศมีโค้งในการเลี้ยวแคบจึงเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างน้อย และยังใช้งบประมาณในการก่อสร้างและระยะเวลาที่น้อยกว่า ระบบ Heavy Rail

ระบบความปลอดภัย

ขณะที่ระบบความปลอดภัยนั้น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ใส่ใจความปลอดภัยในการเดินทางของผู้โดยสาร โดยได้จัดเตรียมอุปกรณ์และแผนรองรับ กรณีเหตุการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้ทุกคนเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีความปลอดภัยสูงสุด

ภายในสถานี เลือกใช้วัสดุก่อสร้างสถานีที่ไม่ลามไฟและไม่เกิดควันพิษเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ โดยติดตั้งระบบดับเพลิง เช่น ถังดับเพลิง สายฉีดน้ำดับเพลิง และระบบดับเพลิงอัตโนมัติ, ติดตั้งประตูกั้นชานชาลาป้องกันสิ่งของและคนตกลงจากชานชาลาไปยังทางวิ่งรถไฟฟ้า, ติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยภายในสถานี

ภายในขบวน ออกแบบไม่ให้มีส่วนแหลมคมในขบวน และใช้วัสดุที่ไม่ก่อให้เกิดควันพิษและยากต่อการลุกลามเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ ติดตั้งกล้อง CCTV และเครื่องตรวจจับควัน เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยภายในขบวน, ติดตั้งระบบดับเพลิง เช่น ถังดับเพลิง ภายในขบวนรถ, ติดตั้งปุ่มติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ควบคุมรถ, ติดตั้งที่เปิดประตูฉุกเฉิน กรณีที่จำเป็นต้องอพยพจากขบวน

ความปลอดภัยในการเดินรถ ติดตั้งระบบควบคุมรถอัตโนมัติ (Automatic Train Control : ATC) จำกัดความเร็วตามที่กำหนด ติดตั้งระบบป้องกันความพลิดพลาดในการเดินรถ (Automatic Train Protection : ATP) ความคุมระยะห่างระหว่างขบวนรถ