ส.อ.ท.หวังโรงไฟฟ้าชุมชน 150 เมกะวัตต์แรก ประสบความสำเร็จ รับห่วงอัตราค่าไฟต่ำ

ผู้ชมทั้งหมด 1,417 

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนําร่อง) กำหนดกรอบรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น เชื้อเพลิงชีวมวล ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ต่อโครงการเป้าหมายการรับซื้อ 75 เมกะวัตต์ และเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย น้อยกว่าหรือเท่ากับ 25%) ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ เป้าหมายการรับซื้อ 75 เมกะวัตต์ ที่ภาคเอกชนและวิสาหกิจชุมชนรอคอยมาร่วม 2 ปี

ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 ก.ย.2564 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ได้ประการศผลผู้ชนะการประมูล พบว่ามีผู้ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) จำนวนทั้งสิ้น 43 ราย คิดเป็นปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 149.50 เมกะวัตต์ (ค่าไฟฟ้าเสนอขายเฉลี่ย 3.1831 บาทต่อหน่วย) แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทชีวมวลจำนวน 16 ราย ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายรวม 75.00 เมกะวัตต์ (ค่าไฟฟ้าเสนอขายเฉลี่ย 2.7972 บาทต่อหน่วย) และโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทก๊าซชีวภาพรวม 27 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 74.50 เมกะวัตต์ (ค่าไฟฟ้าเสนอขายเฉลี่ย 3.5717 บาทต่อหน่วย)

นายนที สิทธิประศาสน์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ผลการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 150 เมกะวัตต์แรก พบว่า โครงการประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ขนาดเล็ก กำลังการผลิตไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ มีส่วนลดราคาค่าไฟ(discount) สูงสุด ได้ราคาต่ำสุดอยู่ที่ 2.31 บาทต่อหน่วย คิดเป็น 82.5% และรวมค่าพรีเมียมในพื้นที่ภาคใต้อีก 50 สตางค์ รวมอยู่ที่ 2.81 ส่วนลดราคาค่าไฟ(discount) ต่ำสุด ได้ราคาสูงสุดอยู่ที่ 3.52 บาทต่อหน่วย คิดเป็น 36.11% หรือมีค่าเฉลี่ยส่วนลดราคาค่าไฟ อยู่ที่ 2.81-3.52 บาทต่อหน่วย

โครงการประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล กำลังการผลิตมากกว่า 3 เมกะวัตต์ แต่ไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ มีส่วนลดราคาค่าไฟ(discount) สูงสุด ได้ราคาต่ำสุดอยู่ที่ 2.23 บาทต่อหน่วย คิดเป็น 84% และรวมค่าพรีเมียมในพื้นที่ภาคใต้อีก 50 สตางค์ รวมอยู่ที่ 2.73 ส่วนลดราคาค่าไฟ(discount) ต่ำสุด ได้ราคาสูงสุดอยู่ที่ 2.80 บาทต่อหน่วย คิดเป็น 60.35% หรือมีค่าเฉลี่ยส่วนลดราคาค่าไฟ อยู่ที่ 2.73-2.80 บาทต่อหน่วย

ส่วนโครงการประเภทเชื้อเพลิงชีวภาพ ขนาดเล็ก กำลังการผลิตไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ มีส่วนลดราคาค่าไฟ(discount) สูงสุด ได้ราคาต่ำสุดอยู่ที่ 2.62 บาทต่อหน่วย คิดเป็น 72.5% และส่วนลดราคาค่าไฟ(discount) ต่ำสุด ได้ราคาสูงสุดอยู่ที่ 3.57 บาทต่อหน่วย คิดเป็น 38.38 % หรือมีค่าเฉลี่ยส่วนลดราคาค่าไฟ อยู่ที่ 2.62-3.57 บาทต่อหน่วย

ดังนั้น ในส่วนของโครงการประเภทเชื้อเพลิงชีวมวลและชีวภาพ ขนาดเล็ก จะมีอัตราค่าไฟฟ้าใกล้เคียงกันอยู่ที่ 2.6-3.5 บาทต่อหน่วย ขณะที่โครงการเชื้อเพลิงชีวมวล ขนาดใหญ่กว่า จะมีอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย อยู่ที่ 2.73-2.8 บาทต่อหน่วย ซึ่งมีต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำกว่าโครงการขนาดเล็ก

“ยอมรับว่า การแข่งขันประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนครั้งนี้ ได้อัตราค่าไฟฟ้าต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ที่ไม่ควรต่ำกว่าระดับ 3 บาทต่อหน่วย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่แต่ละโครงการที่ชนะการประมูลจะบริหารจัดการต้นทุนดำเนินการกันเอง แต่ก็ยังเป็นห่วงว่าชุมชนจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่หรือไม่”

อย่างไรก็ตาม การประกาศผลผู้ชนะการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่มีผู้ได้สิทธิดำเนินการ 43 ราย ยังไม่ถือเป็นคำตอบสุดท้ายที่จะวัดผลสำเร็จของโครงการฯได้ แต่ยังต้องรอประเมินผลดำเนินการเป็นระยะ เช่น ทั้ง 43 ราย จะสามารถลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) ได้ครบตามกำหนดหรือไม่ รวมถึง รัฐวิสาหกิจชุมชนที่เป็นคู่สัญญากับโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งในสัดส่วนราว 10% จะสามารถขายเชื้อเพลิงสร้างรายได้ และมีกำไรจากการถือหุ้นบุริมสิทธิ์ 10% ตามที่คาดหวังหรือไม่ ตลอดจนดูเรื่องของงบ CSR ที่จะลงสู่ชุมชนในพื้นที่ จะนำไปสู่การจ้างงาน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนได้มากน้อยอย่างไร   

นายนที กล่าวอีกว่า ส่วนตัวรู้สึกเป็นห่วงว่า การประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่ได้อัตราค่าไฟฟ้าในราคาที่ค่อนข้างต่ำ จะทำให้วิสาหกิจชุมชนได้รับประโยชน์อย่างเต็มทีหรือไม่ แต่ก็ถือเป็นสัญญาที่ดี ที่ทำให้เห็นว่าภาคเอกชนตื่นตัวเข้าร่วมการประมูลคึกคัก ตอบรับต่อกระแสของโลกที่ต้องการไฟฟ้าที่เป็นพลังงานสะอาดมากขึ้น

ทั้งนี้ คาดหวังว่า การขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าชุมชนในระยะต่อไป หรือ โครงการในเฟสที่ 2 นั้น ภาครัฐจะปรับเงื่อนไขโครงการใหม่ โดยหันกลับไปพิจารณาเงื่อนไขเดิม ที่ไม่ใช่รูปแบบการเปิดประมูลแข่งขันด้านราคา และเป็นการแข่งขันเสนอผลประโยชน์ให้กับชุมชนสูงสุด เพราะวิธีการนี้ จะทำให้ชุมชนได้รับประโยชน์จากโครงการอย่างเต็มที่ เช่น การกำหนดผลตอบแทน 25 สตางค์ต่อหน่วย เป็นต้น และยังช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 คลี่คลายลง ทำให้เม็ดเงินลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างเต็มที่

แม้ว่า หลายฝ่ายอาจจะมีข้อกังวลเรื่องของต้นทุนค่าไฟฟ้าที่อาจจะสูงกว่าวิธีการเปิดประมูลแข่งขัน แต่หากพิจารณาจากกำลังการผลิต ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ที่กำหนดรับซื้อไฟฟ้า รวมในปริมาณ 1,933 เมกะวัตต์ ก็คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ปริมาณส่วนน้อยที่กระทบต่อค่าไฟฟ้า และหากพิจารณาจากราคาแต่ละโครงการที่ไม่รวมต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม ไฟฟ้าจากชีวมวลก็จะมีราคาสูงกว่าไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งหากนำเรื่องของมูลค่าการลดคาร์บอนที่ปล่อยออกไปมาประเมินด้วย โดยหากนำทุกมิติมาคำนวณก็จะถือว่าคุ้มค่าต่อผลประโยชน์ที่กลับสู่เศรษฐกิจในภาพรวมมากกว่า

“โดยรวมแล้ว ผมอยากเห็นโครงการนี้สำเร็จ แม้จะไม่เห็นด้วยกับวิธีการประมูล แต่ก็ต้องติดตามประเมินผลโครงการต่อไปเป็นระยะๆว่าจะ สามารถเซ็นต์ PPA ได้หรือไม่ ก่อสร้างได้ไหม ชุมชนได้ประโยชน์อย่างไร เม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจจริงหรือไม่ ซึ่งหากจะรอให้โครงการแล้วเสร็จและประเมินผลต้องใช้เวลาถึง 3 ปี ดังนั้น ระหว่างนี้ เป็นไปได้ไหมที่จะประเมินผลควบคู่ไปกับการพิจารณาเงื่อนไขเดิมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ”

ก่อนหน้านี้ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประเมินว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน (โครงการนำร่อง) รับซื้อไฟฟ้า 150 เมกะวัตต์ เพราะจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 1.03 หมื่นล้านบาท และหากดำเนินการได้ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในปริมาณ 1,933 เมกะวัตต์ จะทำให้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มเป็นประมาณ 1.34 แสนล้านบาท เอื้อให้เกิดการจ้างงานร่วมหมื่นตำแหน่ง ซึ่งจะเป็นความคุ้มค่าต่อเศรษฐกิจของประเทศ