เกาะกระแสพลังงาน เดือนตุลาคม 2564

ผู้ชมทั้งหมด 944 

เข้าสู่เดือนที่ 10 ของปี 2564 เดือนตุลาคม เป็นอีกหนึ่งเดือนที่คนไทยคาดหวังว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กินระยะเวลายาวนานติดต่อกันหลายเดือนในปีนี้ จะมียอดผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังล่าสุดปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ยอดผู้ติดเชื้อเหลือประมาณหลักหมื่นต้นๆ

การเริ่มต้นเดือนที่ 10 ของปีนี้ ก็ทำให้ “คนไทย” กังวลใจกับภาวะค่าครองชีพที่อาจจะสูงขึ้นจากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาขายปลีกน้ำมัน ที่ปรับขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่เริ่มฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น รวมถึงเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวของซีกโลกตะวันตก และยังมีผลกระทบต่อเนื่องจากพายุในสหรัฐอเมริกา ทำให้การผลิตน้ำมันต้องหยุดชะงัก

นอกจากนั้น กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (กลุ่ม OPEC) ได้มีการควบคุมการผลิตน้ำมันดิบ ส่งผลให้ทั่วโลกเผชิญกับปัญหาราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ในส่วนของราคาน้ำมันนั้น “คนไทย” ก็สบายใจได้ในระดับหนึ่ง เพราะทางกระทรวงพลังงาน ออกมาส่งสัญญาณชัดเจนว่า พร้อมใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้าไปดูแลราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล(บี 10) ไม่ให้ ทะลุ 30 บาทต่อลิตร เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนราคาสินค้าและบริการ หรือไม่ให้กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม

ขณะที่ก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) หรือ ที่เรียกติดปากกันว่า “ก๊าซหุงต้ม” ก็สบายใจได้ เพราะการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 ก็มีมติตรึงราคาขายปลีก สำหรับถังขนาด 15 กิโลกรัมอยู่ที่ 318 บาทต่อถัง (ไม่รวมค่าขนส่ง) ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

ส่วนประเด็นเกี่ยวกับ “นโยบายพลังงาน” ที่ต้องติดตามความคืบหน้าในเดือนตุลาคม 2564 ก็มีเรื่องที่น่าสนใจประมาณ 5 เรื่องหลัก ดังนี้

เรื่องแรก คือ ข้อสั่งการของคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ( กบน.) ที่มอบหมายให้ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) หารือกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เพื่อขอใช้งบดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยนำมาดูแลราคา LPG ให้ประชาชน หลังกรอบวงเงินจัดสรรสำหรับดูแลราคาLPG ใกล้ทะลุเพดาน 18,000 ล้านบาทแล้ว

เรื่องที่สอง คือ ข้อสั่งการของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) หารือกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เพื่อจัดทำรายละเอียดการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 หรือ PDP2018 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1) สำหรับช่วงเวลา พ.ศ. 2564-2573 หรือในช่วง 10 ปีข้างหน้า เพื่อเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น หรือไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศ

เรื่องที่สาม คือ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เตรียมนัดหมายผู้ชนะการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (นำร่อง) 150 เมกะวัตต์ ทั้ง 43 ราย มารับทราบแนวทางปฏิบัติในการพัฒนาโครงการฯ ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และการปฏิบัติตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น การเตรียมเอกสารการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) การเปิดรับฟังความเห็นชุมชน, การขอใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า และการจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เป็นต้น ก่อนนำไปสู่การลงนามPPA ช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคมนี้

เรื่องที่สี่ คือ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เตรียมหารือกระทรวงพลังงาน ปรับปรุงหลักเกณฑ์เพิ่มเติม รองรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ(LNG) ตามนโยบายส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 เพื่อจัดสรรโควตานำเข้าLNG ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2564 ปริมาณราว 2.4 แสนตันที่เหลือ และปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อเอื้อให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ(Shipper) เอกชน นำเข้าLNG ในปี 2565 ตามแนวทางที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)คาดหวังต่อไป

เรื่องที่ห้า คือ ความคืบหน้าการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) หลังก่อนหน้านี้ภาครัฐ ตั้งเป้าหมายจะออกนโยบายสนับสนุนทั้งด้านการเงินและมาตรการภาษี เพื่อสนับสนุนตามนโยบาย 30/30 หรือ การส่งเสริมการผลิตรถ EV ในประเทศให้ได้ 30% ภายในปีค.ศ. 2030 และถือเป็นโอกาสพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เน้นเทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักลงทุน และรักษาฐานการผลิตรถยนต์ของประเทศไว้ แต่ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใด ก็คาดหวังว่าจะเห็นความคืบหน้าได้ในเดือนตุลาคมนี้