เกาะกระแสพลังงาน เดือนธันวาคม 2564

ผู้ชมทั้งหมด 1,348 

ส่งท้ายปี 2564 ก้าวสู่การดำเนินชีวิตในเดือนธันวาคม เดือนสุดท้ายของปีนี้ ก่อนเริ่มต้นความหวังใหม่ในปี 2565 ก็ดูเหมือนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย จะมียอดผู้ติดเชื้อรายวันลดลง แต่ในต่างประเทศสถานการณ์กลับมาน่ากังวลอีกครั้ง หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน”

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังน่ากังวล ทำให้กลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน คาดการณ์การว่า การใช้น้ำมันยังคงผู้กดดันจากโควิด-19 ส่งผลให้กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรมีแนวโน้มที่จะคงกำลังการผลิตในเดือน ม.ค. 65 นับเป็นแรงกดดันให้ราคาน้ำมันยังทรงตัวระดับสูง รวมถึงความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นในฤดูหนาว ส่งผลต่อราคาพลังงานทั่วโลกยังยืนอยู่ในระดับสูง และอาจเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

ขณะที่ ทิศทางพลังงานไทยในเดือนธันวาคมนี้ มีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามความคืบหน้าและนโยบายของภาครัฐที่จะขับเคลื่อนการลงทุนที่เกี่ยวโยงกับภาคพลังงาน ดังนี้

เรื่องที่หนึ่ง คือ การประกาศลดสเปคน้ำมันดีเซลทั่วประเทศเหลือเกรดเดียว คือ ดีเซลบี7 (การผสมน้ำมันไบโอดีเซล สัดส่วน 7% ในน้ำมันดีเซล) ที่เริ่มมีผล 1ธ.ค.64 – 31 มี.ค65 เพื่อหวังรักษาราคาขายปลีกดีเซลให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 28 บาทต่อลิตร จะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร ท่ามกลางกองทุนน้ำมันฯ เตรียมกู้เงิน รวม 30,000 ล้านบาท เพื่อพยุงรราคาดีเซล และก๊าซ LPG รวมถึงจะนำไปสู่การปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล เพิ่มเติมหรือไม่ ขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ยังมีเสียงคัดค้าน

เรื่องที่สอง คือ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) อยู่ระหว่างจัดทำร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ(PDP 2022) หรือ แผน PDP ฉบับใหม่ โดยเบื้องต้นเป็นการเกลี่ยสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากแผน PDP2018 rev.1 ซึ่งลดกำลังการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติลง 700 เมกะวัตต์ และหันไปเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแทน โดยหากแผนฯตกผลึกแล้ว ก็จะนำไปสู่การเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในปี 2565

เรื่องที่สาม คือ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน( กกพ.) เร่งจัดทำหลักเกณฑ์ราคาอ้างอิงการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) สำหรับผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) รายใหม่ ทั้งที่จะนำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมตัวเอง และทั้งนำเข้าเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบไฟฟ้าของประเทศ

โดยเบื้องต้นหลักเกณฑ์ราคาอ้างอิงฯ จะมีทั้ง ราคาอ้างอิงก๊าซธรรมชาติเหลว แบบราคาตลาดจร (Spot LNG ) และแบบสัญญาระยะยาวโดยราคาอ้างอิงแบบ Spot จะเป็นราคาตามตลาดโลก ที่น่าจะประกาศได้วันต่อวัน แต่ในส่วนของราคาอ้างอิง LNG แบบสัญญาระยะยาว จะต้องพิจารณาถึงปริมาณและราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและจากประเทศเมียนมาประกอบร่วมด้วย ทั้งนี้ กกพ.คาดหวังจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพื่อทันเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ภายในเดือน ธ.ค.นี้

เรื่องที่สี่ คือ ความคืบหน้าการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ตามนโยบายสนับสนุนทั้งด้านการเงินและมาตรการภาษี เพื่อสนับสนุนตามนโยบาย 30/30 หรือ การส่งเสริมการผลิตรถ EV ในประเทศให้ได้ 30% ภายในปีค.ศ. 2030 ที่คาดว่าจะมีมาตรการทางด้านภาษี และสิทธิประโยชน์ออกมาจูงใจผู้ผลิตและผู้นำเข้า

อีกทั้งมาตรการที่ออกมา ยังจะจูงใจผู้ใช้รถหันมาซื้อรถ EV เช่นเดียวกับมาตรการส่งเสริมรถยนต์คันแรก ทั้งนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะประกาศมาตรการที่ชัดเจนออกมาภายในเดือนธันวาคมนี้ หลังจากล่าช้ามาหลายเดือนแล้ว ซึ่งก็ต้องติดตามความชัดเจนจากการประชุมบอร์ดอีวี ที่คาดหมายว่าจะมีขึ้นภายในเดือนธันวาคมนี้ ก่อนเริ่มมาตรการในช่วงต้นปี 2565

เรื่องที่ห้า คือ การลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) กับผู้ชนะการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (นำร่อง) 150 เมกะวัตต์ ทั้ง 43 ราย ซึ่งภาครัฐ คาดหมายว่าจะเริ่มดำเนินการได้ไม่เกินเดือนธันวาคมนี้