“เจ้าท่า” โชว์ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมความปลอดภัยและการจราจรทางน้ำ 

ผู้ชมทั้งหมด 816 

เจ้าท่า” ครบรอบ 163 ปี โชว์ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมความปลอดภัยและการจราจรทางน้ำ สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนและเอกชนสายการเดินเรือทั้งไทยและต่างประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่กรมเจ้าท่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธานในวันคล้ายวันสถาปนากรมเจ้าท่า (จท.) ครบรอบ 163 ปี พร้อมเปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมความปลอดภัยและการจราจรทางน้ำ จท. โดยมีคณะผู้บริหาร บุคลากร และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมเข้าร่วม

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า กรมเจ้าท่า ถือเป็นหน่วยงานราชการที่ก่อตั้งมายาวนานที่สุดในกระทรวงคมนาคม ปัจจุบันครบรอบ 163 ปี ซึ่งมีภารกิจในการพัฒนาศักยภาพในการขนส่งทางน้ำ พัฒนามาตรการความปลอดภัยของการขนส่งทางน้ำและการพาณิชยนาวี การพัฒนาและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ และการผลิตบุคลากรด้านพาณิชยนาวีให้มีคุณภาพ รวมทั้งการดูแล รักษาสิ่งแวดล้อมทางน้ำ ทั้งแม่น้ำ คูคลอง และชายฝั่งทะเล ซึ่งที่ผ่านมาสามารถปฎิบัติงานได้ดีภายใต้บัคลากรและงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า จท. จะต้องเร่งศึกษา พัฒนา และปรับปรุงระเบียบข้อกฎหมายต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมและทันสมัย รวมทั้งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ เพื่อปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานและตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จท. ได้ปรับปรุงและพัฒนาหน่วยงาน รวมทั้งพัฒนาภารกิจมาอย่างต่อเนื่อง สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล มุ่งสู่ “MD NEXT 2023” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ได้รับความสะดวก ทั่วถึง และปลอดภัย 

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ขณะนี้ จท. ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมความปลอดภัยและการจราจรทางน้ำ วงเงิน 881 ล้านบาท ภายใต้โครงการระบบตรวจการณ์ชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่างและอันดามัน (VTS 3) เพื่อเป็นศูนย์อำนวยการบูรณาการข้อมูลสารสนเทศด้านการขนส่งทางน้ำของประเทศไทยอย่างเป็นระบบ ยกระดับมาตรฐานการรักษาความปลอดภัย การตรวจตรา ดูแล และติดตามเส้นทางการเดินเรือทั้งในและต่างประเทศ ป้องกันการกระทำผิดกฎหมายในทะเล และเป็นศูนย์กลางในการประสานระบบสื่อสารทางทะเล พร้อมบูรณาการข้อมูลสารสนเทศด้านการขนส่งทางน้ำเพื่อรองรับปริมาณการจราจรทางน้ำบริเวณทะเลฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าปัจจุบันที่อยู่ที่ 4-5 หมื่นเที่ยวต่อปี

รวมทั้งช่วยสนับสนุนศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล  (ศรชล.) ในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มศักยภาพเส้นทางการขนส่งสินค้าทางเรือ เชื่อมโยงเศรษฐกิจของประเทศไทยและสนับสนุนการพัฒนาประเทศ สอดคล้องตามอนุสัญญาความตกลงระหว่างประเทศ  ที่ประเทศไทยให้สัตยาบันเป็นภาคีในอนุสัญญาต่าง ๆ กับองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) 

โดยมีสถานีลูกข่ายในชายฝั่งอ่าวไทย 12 สถานี สถานีลูกข่ายในชายฝั่งอันดามัน 11 สถานี และศูนย์ปฏิบัติการระบบตรวจการณ์ 2 แห่ง เมื่อเชื่อมโยงกับระบบตรวจการณ์เดิมในระยะที่ 1 และ 2 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เฉพาะอ่าวไทยตอนบนและมีสถานีลูกข่าย 10 สถานี จะทำให้มีสถานีลูกข่ายตรวจการณ์เป้าในทะเลของประเทศ รวมทั้งสิ้น 33 สถานี และศูนย์ปฏิบัติการฯ รวม 3 แห่ง ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับอุตสาหกรรมการเดินเรือและการขนส่งสินค้าทางน้ำของประเทศไทย ด้านการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยอย่างเต็มระบบ รวมทั้งสร้างโอกาสในการแข่งขันของประเทศ โดยในปี 2566 ประเทศไทยจะเข้ารับการตรวจการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ประเทศไทยให้สัตยาบันไว้กับIMO 

ทั้งนี้ความพร้อมในระบบต่าง ๆ ของศูนย์ปฏิบัติการฯ จะแสดงให้ผู้ตรวจสอบได้เห็นว่า ประเทศไทยได้นำระบบมาใช้กำกับ ติดตาม และตรวจสอบการปฏิบัติของเรือ ท่าเรือ และการตรวจสอบมาตรฐานคนประจำเรืออย่างต่อเนื่อง ตามมาตรฐาน IMO และในโอกาสที่ประเทศไทยกำลังเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากจท. ได้เตรียมความพร้อมของระบบและมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุให้กับนักท่องเที่ยว โดยศูนย์ปฏิบัติการฯ จะสร้างเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยทางน้ำให้กับประชาชน และนักท่องเที่ยวพร้อมสร้างความอุ่นใจในการแจ้งเตือนภัย และเป็นศูนย์อำนวยการในการบริการ กำกับ ติดตาม ด้านความปลอดภัยในการคมนาคมขนส่งทางน้ำของประเทศ